Home สิ่งที่เราทำ ผลักดันระดับประเทศ กรุงเทพมหานครมีรถประจำทางที่เอาจักรยานขึ้นได้แล้ว


เมื่อบ่ายวันที่ 19 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการเปิดตัวระบบขนส่งมวลชน RTC ที่สถานีรถไฟฟ้าบางรักน้อยท่าอิฐของระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ซึ่งระบบนี้เป็นระบบรถประจำทางที่มาเสริมระบบรถไฟฟ้าในเขตจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


งานเริ่มด้วยการอภิปรายที่มีตัวแทนจากหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ทราบว่า รถประจำทางปรับอากาศ RTC แบบนี้ได้ใช้มาก่อนแล้วที่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่หลังสงกรานต์ปีก่อน(2561) ทางผู้บริหารท้องถิ่นของจังหวัดนนทบุรีสนใจที่จะมีระบบขนส่งมวลชนอีกระบบมาเสริมระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มีอยู่ จึงไปดูงานและติดต่อให้บริษัทเอกชนเจ้าเดียวกันมาดำเนินการที่นนทบุรีด้วยเพื่อรองรับประชาชนในจังหวัดนี้ที่มีถึงราว 2 ล้านคน (ในทะเบียนบ้าน 1.3 ล้านคน และแรงงานอพยพ 7 แสนคน) ผู้ร่วมอภิปรายยอมรับว่า ยังต้องมีระบบย่อยลงไปอีก รวมทั้งการใช้จักรยาน ขนคนจากบ้านในย่านที่อยู่อาศัยที่ห่างจากเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนใหญ่ออกไปมาป้อนระบบทั้งสองด้วย


รถประจำทางสาย 6028 ใหม่นี้เดินรถเป็นวงกลม ทั้งตามและทวนเข็มนาฬิกา วนรับคนทั้งสองฝากแม่น้ำเจ้าพระยาของนนทบุรี ด้วยค่าบัตร(คล้ายรถไฟฟ้า-ไม่มีตั๋ว)ราคาเที่ยวละ 24 บาทตลอดสาย (ถ้าใช้บัตร RTC 20 บาท) ซึ่งสามารถใช้บัตร Rabbit ที่ใช้กับระบบรถไฟฟ้า BTS ได้ ทำให้ต่อไปจะมีส่วนลดให้นักเรียนนักศึกษาและผู้สูงอายุด้วย และใช้แอพ. VIABUS ในการหาตำแหน่งรถได้เช่นเดียวกับรถประจำทางสายอื่นที่มีอยู่เดิม โดยในรถบัสมีบริการ WIFI สัญญาณแรงให้ใช้ แต่ที่พิเศษสุดและมีให้บริการเป็นครั้งแรกในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคือ การที่ผู้โดยสารสามารถเอาจักรยานหรือรถเข็นของคนพิการขึ้นไปบนรถประจำทางนี้ได้ 2 คันในรถบัสแต่ละคัน (หรืออย่างละคัน) โดยมีที่ล็อคเรียบร้อย และรถบัสนี้เป็นรถที่มีพื้นชานต่ำและมีแผงยกเปิดออกไปเป็นทางลาดให้เข็นจักรยาน-รถเข็นขึ้นรถบัสได้อย่างสะดวก

หลังทำพิธีเปิดที่มีนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานแล้ว มีการปล่อยรถออกวิ่งทั้งสองทิศทางให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้ ซึ่งกรรมการสถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้ทดสอบนำจักรยานขึ้นรถบัสและนั่งร่วมไปด้วยหนึ่งรอบ พบว่ามีความสะดวกตามควร ใช้เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันได้ แม้ว่าในการใช้งานจริงที่อาจมีผู้โดยสารใช้รถบัสมากจนแน่น จะมีความลำบากในการนำจักรยานเข้าออก และใช้เวลาเนื่องจากพนักงานขับรถต้องมาให้บริการ เพราะรถบัสระบบนี้มีแต่คนขับคนเดียว ไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร

ในการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน สถาบันฯ ได้พยายามผลักดันและสนับสนุนให้มีการจัดทำระบบและโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้สามารถเดินและใช้จักรยานจากบ้านและสถานที่อันเป็นเป้าหมายในการไปทำกิจประจำวัน เช่น สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ตลาดและแหล่งจับจ่ายซื้อของ สถานประกอบกิจทางศาสนา ฯลฯ ได้อย่างสะดวก สบาย และปลอดภัย รวมทั้งการไปเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถไฟ/รถไฟฟ้า เรือ ฯลฯ พื้นที่ในจังหวัดนนทบุรีรอบข้างเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เป็นจุดหนึ่งที่สถาบันฯ ได้เสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง นำไปพิจารณาจัดทำโครงการนำร่องเป็นแบบอย่าง

ดังนั้นจึงขอขอบคุณผู้บริหารเมืองนนทบุรีที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนได้มากขึ้น ขอแสดงความยินดีกับชาวนนทบุรีที่มีบริการใหม่ที่น่าจะมีคุณภาพสูง และหวังว่าบริการใหม่นี้จะไปได้ด้วยดี และเป็นแบบอย่างให้มีบริการขนส่งมวลชนแบบนี้เพิ่มขึ้นต่อๆ ไป รวมทั้งการสนับสนุนการเดินและการใช้จักรยาน เป็นระบบขนส่งย่อยมาเชื่อมต่อป้อนคนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนใหญ่ด้วย

กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย รายงาน

Print Friendly, PDF & Email