Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News สถาบันการเดินและการจักรยานไทยร่วมประชุมโครงการวางผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สถาบันการเดินและการจักรยานไทยร่วมประชุมโครงการวางผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ ๑ ของโครงการวางผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล “มหานครแห่งเอเชีย” ขึ้นที่โรงแรมดิเออเมอรัล กรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรับทราบถึงโครงการและได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา ข้อจำกัด ความต้องการ และความคาดหวังในการพัฒนาภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย / สถาบันการเดินและการจักรยานไทย โดย ศ.กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธาน, นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองประธาน และนายกวิน ชุติมา กรรมการ/เหรัญญิกได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย

เนื้อหาหลักของการประชุมช่วงเช้าเป็นการบรรยายพิเศษหัวข้อ “มหานครแห่งเอเชีย” โดย ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ดร.เกรียงศักดิ์เริ่มต้นด้วยการให้แง่คิดว่า จะเกิดการพัฒนาได้ต้องมีปัจจัย ๓ ประการ ได้แก่ (๑) คนดี คือคนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว (๒) ระบบที่ดี คือระบบที่ทำให้คนไม่ดีทำดีโดยไม่รู้ตัว และ (๓) บริบทที่ดี คือบริบทที่ทำให้คนดี-ระบบดี สามารถทำให้เป้าหมายบรรลุผลได้  จากการที่ไทยเป็นประเทศเล็กไม่สามารถเป็นผู้กำหนดบริบทของโลก (context maker) ได้  จึงต้องฉลาดในการเอาบริบทโลกมาเป็นประโยชน์ ต้องดูจังหวะและใช้โอกาสที่เปิดให้ (context taker)  ดร.เกรียงศักดิ์ย้ำว่าขณะนี้เป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของไทยแล้ว และโอกาสนี้จะอยู่ไม่นาน ไทยต้องปรับคนและระบบให้เข้ากับบริบทโลกขณะนี้ให้ได้

บริบทโลกที่สำคัญในขณะนี้คือ (๑) Easternization หรือการก้าวขึ้นมาของมหาอำนาจตะวันออก (จีน อินเดีย และอาเซี่ยน) ในขณะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังถดถอย ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซี่ยนในทางภูมิศาสตร์ จึงเป็นโอกาส แต่ไทยกลับมีบทบาทลดลงเรื่อยๆ (๒) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ระบบสวัสดิการไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด ต้องสร้าง-ปรับคนและระบบให้มาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น (๓) การเป็นเมือง (Urbanization)  ขณะนี้คนราวครึ่งหนึ่งของโลก รวมทั้งไทย เข้ามาอยู่ในเมืองแล้ว (๔) การเกิดขึ้นของ Magna City คือเขตเมืองที่มีคน ๕๐ ล้านคนขึ้นไป (ขณะนี้มีประชากรในโตเกียว ๓๘ ล้านคน และในฉงชิ่ง ๒๙ ล้านคน) ต้องมีความสามารถในการจัดการและใช้ความรู้เป็นองค์นำ มิฉะนั้นจะติด “กับดักรายได้ต่ำและกับดักรายได้ปานกลาง” ดังประเทศส่วนใหญ่ในโลก  กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเป็นมหานครแห่งเอเชียได้ต้องมีหลักปรัชญาที่เป็นแก่นแท้จริง อันได้แก่การอยู่ร่วมกันได้โดยทุกคนอยู่ได้อย่างเหมาะสม มีความสุข มิใช่แค่มีชื่อเสียงโด่งดัง เอาชนะเพื่อนบ้าน หรือความเจริญทางเศรษฐกิจในด้านวัตถุสิ่งของ ต้องมีอุดมการณ์แห่งชาติ วิสัยทัศน์แห่งชาติ นโยบายแห่งชาติ และวาระแห่งชาติ ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ   ดร.เกรียงศักดิ์ปิดท้ายช่วงถาม-ตอบด้วยการชี้ว่า ปัญหาร้ายแรงของไทยคือการเป็นสังคมอาวุโสนิยม ให้ความสำคัญกับอายุและตำแหน่ง “บ้าตำแหน่ง บ้าอำนาจ” ไม่ใส่ใจคุณภาพ ไม่ฟังไม่เปิดทางให้คนที่อายุน้อย ไม่มีตำแหน่งหรือตำแหน่งต่ำ ทั้งที่อายุมากตำแหน่งสูงไม่ได้แปลว่ารู้ดี

ในช่วงบ่ายมีการเสวนาหัวข้อ “ความพร้อมของภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสู่การเป็นมหานครแห่งเอเชีย” โดยวิทยากรห้าคนจากกรมโยธาธิการฯ ภาคเอกชน และสถาบันวิชาการ ซึ่งได้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะได้ชี้ให้เห็นโอกาส และข้อจำกัด-อุปสรรคหลายประการ เช่น การที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอาเซี่ยนในทางภูมิศาสตร์(บวก) และการที่หน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้องไม่คุยกัน ต่างคนต่างคิดต่างทำ (ลบ)

ในช่วงท้ายที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็น  นายกวินได้ชี้ว่า โครงการนี้มองการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็น “มหานครแห่งเอเชีย” เป็นแค่การพัฒนาตัวเมืองให้เป็นศูนย์กลาง ๕ ด้าน (เช่น การคมนาคมขนส่ง การค้าและการบริการ) แต่แทบไม่เห็นคนที่อยู่ในเมืองนี้เลย จึง “ไม่มีหน้าตา”  เอกสารประกอบไม่เอ่ยถึงการทำให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน” ซึ่งเป็นทิศทางที่ยอมรับกันทั่วโลกแต่อย่างใด ไม่พูดถึงคุณภาพชีวิตของคน เช่น การมีเวลาที่มีคุณภาพให้ตนเองและครอบครัว การลดค่าใช้จ่าย การลดเวลาที่ใช้ในการเดินทาง-ลดการจราจรที่ติดขัด อย่างการทำให้เป็นเมืองกระชับ (compact city) ที่คนส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยการเดินและการใช้จักรยานได้  ในขณะที่โตเกียวซึ่งเป็นเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ร้อยละ ๑๔ ของประชากร ๓๘ ล้านคนที่นั่นใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน กรุงเทพฯมีการใช้จักรยานไม่ถึงร้อยละ ๐.๕   ส่วนสิงคโปร์ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ไม่ได้ประกาศจะให้ตนเองเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” แต่ชูว่าสิงคโปร์เป็น “สถานที่ยอดเยี่ยมในการอยู่อาศัย ทำงาน และบันเทิงเริงเล่น” (A Great Place to Live, Work and Play) และมีแผนจะทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองกระชับในสิบปี  จึงไม่คิดว่าด้วยกรอบแนวคิดที่เสนอมา กรุงเทพฯ จะเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ได้

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email