Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News สี่จังหวัดร่วมทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเดินการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันภาคใต้ตอนบน

ผู้เข้าร่วมการประชุมจัดทำร่างยุทธศาสตร์

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา องค์กรปกครองในพื้นที่/เมืองที่เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดินระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนบน) ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย / สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ที่ดำเนินการโดยสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดกระบี่, เทศบาลเมืองระนอง, เทศบาลเมืองพังงา, เทศบาลเมืองชุมพร, เทศบาลตำบลมาบอำมฤต จ.ชุมพร และองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำน้ำผุด จ.พังงา ได้มาร่วมประชุมกัน สรุปผลการทำงานในแต่ละพื้นที่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานขับเคลื่อนการเดินการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 4 หัวเมืองปักษ์ใต้” ขึ้น มีผู้แทนจาก ทุกพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน มาจัดทำ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเดิน-จักรยาน หัวเมืองปักษ์ใต้ตอนบน (พ.ศ. 2561-2565)”  ในการทำงานร่วมกัน 

(ซ้าย) คุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ  ผอ.สถาบันการเดินและการจักรยานไทย  กล่าวเกริ่นนำ  (ขวา) ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา  แจ้งกำหนดการและแนะนำกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์

การประชุมจัดทำยุทธศาสตร์นี้มีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ห้องประชุมภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรุงเทพมหานคร โดยเอาแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้วมาเป็นตัวตั้ง แล้วเอาแผนที่มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่มาพิจารณา เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ระดับภาค และระดับท้องถิ่น สอดรับกันไป  ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ นอกจากผู้แทนจากองค์กรปกครองในหกพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ก็มีคณะอาจารย์คณะสถาปัตย์ฯ สจล. ที่ได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาด้านวิชาการการออกแบบวางผังเมืองและความรู้อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในโครงการสร้างเครือข่ายฯ มาโดยตลอด นำโดย ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา  และในส่วนของสถาบันการเดินและการจักรยานไทย อันประกอบด้วยนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ, นส.อัจจิมา มีพริ้ง รองผู้อำนวยการ และนายกวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก รวมทั้ง ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ซึ่งเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการของสถาบันฯ ด้วย

กระบวนการระดมความเห็นจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ

ผู้แทนจากองค์กรปกครองในแต่ละพื้นที่ได้ช่วยกันเสนอยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนร่วมกันออกมาเป็น 5 ด้านหรือ 5 ยุทธศาสตร์ โดยแต่ละยุทธศาสตร์ได้เสนอโครงการรูปธรรมที่ทุกพื้นที่เห็นพ้องที่จะนำไปดำเนินการ พร้อมระบุช่วงปีที่จะดำเนินการ งบประมาณ และผู้รับผิดชอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ มีโครงการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อกระตุ้นการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน, โครงการสร้างความเข้าใจเรื่องการเดินและการใช้จักรยานแก่องค์กร ภาคี และผู้บริหารเมือง (เชื่อมโยงระดับชาติกับระดับพื้นที่), โครงการจัดทำสื่อเพื่อสร้างความสำคัญของการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน และ โครงการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับการเดินและการใช้จักรยานตามแผนยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างและจัดการความรู้ มีโครงการจัดทำฐานข้อมูลการเดินและการใช้จักรยานในพื้นที่อย่างเป็นระบบ, โครงการสร้างองค์ความรู้เรื่องการเดินและการใช้จักรยาน การใช้ถนนอย่างปลอดภัย (จัดพื้นที่เรียนรู้), โครงการอบรมเติมความรู้เรื่องกฎหมายจราจร, โครงการส่งเสริมการใช้หลักสูตรการเดินและการใช้จักรยานในโรงเรียน และ โครงการติดตามประเมินผลการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับการเดินและการใช้จักรยาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐาน มีโครงการจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานที่ดีของเมืองที่เป็นมิตรกับการเดินและการใช้จักรยาน และ โครงการพื้นที่นำร่องเมืองที่เป็นมิตรกับการเดินและการใช้จักรยาน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสื่อสารสาธารณะ มีโครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับการเดินและการใช้จักรยาน, โครงการวันเดินและใช้จักรยาน (Walk and Bike Day) 16 กันยายน, โครงการเผยแพร่งานวิจัยทางวิชาการ ปีละ 1 เรื่อง, โครงการหน่วยกล้าเดิน เน้นการสร้างความเข้าใจโรงเรียน เด็ก องค์กร ชุมชน และ โครงการประชาสัมพันธ์แผนแม่บท (แผนที่กิจกรรมเมืองที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน)
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างเครือข่ายทางสังคม มีโครงการสร้างความร่วมมือกับภาคีในการร่วมขับเคลื่อนเมืองที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน (รัฐ-เอกชน-พื้นที่) และโครงการประชุมสรุปผลการขับเคลื่อนเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยานปีละ 1 ครั้ง

(ซ้าย) ชมตัวอย่างที่จอดจักรยานที่ สจล.ออกแบบ (ขวา) ชมทางจักรยาน สจล. – สถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link ลาดกระบัง

นอกจากการนั่งระดมความเห็นในห้องแล้ว ผู้เข้าร่วมได้มีกิจกรรมทางกายพร้อมกับทัศนศึกษาน้อยๆ ด้วยการเดินไปดูตัวอย่างที่จอดจักรยานแบบต่างๆ ที่ สจล.ออกแบบให้ทำง่าย ทนทาน ใช้งานได้ดี ละราคาไม่แพง จากนั้นก็ไปดูสะพานคนเดินเท้าข้ามทางรถไฟสายตะวันออกที่ตัดผ่านกลางพื้นที่ของมหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีจากการออกแบบที่ไม่เหมาะสม) และส่วนต้นของเส้นทางจักรยานยาว 5 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่าง สจล. กับสถานีลาดกระบังของรถไฟฟ้า Airport Rail Link เส้นทางนี้ ผู้แทนชมรมฯ สจล. และ กทม. ได้ร่วมให้ความเห็นในการออกแบบในปี 2555 และสร้างเสร็จในปี 2559 ออกมาเป็นทางราดยางทาสีเขียว กว้าง 3 เมตร ขี่สวนกันได้สะดวก และแยกออกจากถนน มีความปลอดภัยสูง ที่ยังขาดอยู่เป็นการปลูกต้นไม้เพิ่มให้ร่มเงาและไฟฟ้าส่องสว่างยามค่ำคืนในบางช่วง

คุณพรเทพ ดิษยบุตร (ที่สองจากขวา) เลขาธิการสมาพันธ์ฯ นำเสนอร่างยุทธศาสตร์

ต่อมาในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560  การประชุมได้เคลื่อนย้ายไปจัดที่สำนักงานของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ที่อาคาร Energy Complex เขตจตุจักร กรุงเทพฯ  โดยนายพรเทพ ดิษยบุตร  เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและการเดิน(ภาคใต้ตอนบน) ได้เป็นตัวแทนสมาพันธ์ฯ นำเสนอผลการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ข้างต้น ให้นายประพนธ์ จารุไสลพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ระนอง) ในฐานะผู้แทน ปตท.สผ. ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนหลักที่ให้การสนับสนุนโครงการสร้างเครือข่ายฯ ในด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และนายนพพร จรุงเกียรติ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่สนใจเข้าร่วมการขับเคลื่อนการเดินการใช้จักรยานในภาคใต้โครงการนี้

คุณประพนธ์ จารุไสลพงษ์ (ซ้ายสุด) ผู้แทน ปตท.สผ. รับฟังร่างยุทธศาสตร์

ผู้แทน ปตท.สผ. ได้แสดงความเห็นสนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้งห้าและให้ความเห็นเพิ่มบางประการ เช่น ล่าสุดรัฐบาลประกาศนโยบายจะให้ไทยเป็นประเทศกีฬา ท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการจะพิจารณาปรับให้การดำเนินงานของเราสอดคล้องไปกับนโยบายนี้ได้บ้างหรือไม่อย่างไร, ในเรื่องการสนับสนุนทางการเงินนั้น ทาง ปตท.สผ.ได้จัดงบประมาณ 200,000 บาทไว้สนับสนุนในเรื่องความปลอดภัยที่ระนองแล้ว การสนับสนุนการทำแผนแม่บทในยุทธศาสตร์นั้นเป็นไปได้ ต้องทำเรื่องเสนอขอไป ทุกเมืองต้องมีแผนมีผังเมืองที่ชัดเจนไปข้างหน้า 5-10 ปี, ทางด้านโครงสร้างกายภาพ รัฐทำให้ได้ แต่ที่สำคัญคือชาวบ้านในพื้นที่ทราบเรื่องและเอาด้วยหรือไม่ รู้สึกเป็นเจ้าของหรือไม่, ด้านการสื่อสาร ปัจจุบันสื่อทันสมัย การใช้ QR Code มีประโยชน์มาก ต่อไปจะถูกลง แต่ละเมืองมี “จุดขาย” ของตน ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นมาได้และต้องนำมาสื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและกว้างขวาง เช่น เมื่อจะส่งเสริมการเดินก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่ามีอะไรน่าสนใจ มีข้อมูล มีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน ช่วงไหนเหมาะ เป็นต้น

คุณนพพร จรุงเกียรติ (ซ้ายสุด) ผู้แทน สนข.รับฟังร่างยุทธศาสตร์

ส่วนผู้แทน สนข. แสดงความเห็นว่า ทาง สนข.เห็นว่าทั้งห้ายุทธศาสตร์ที่ทำขึ้นมามีความสำคัญ ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว และเสริมว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการความรู้สำคัญมาก จะต้องมีการเก็บข้อมูลของแต่ละพื้นที่ จนได้ที่สุดออกมาเป็นคู่มือ บอกได้ว่าแต่ละเมืองเป็นแบบใด มีความเหมือนความต่างอย่างไร ถ้าทำอย่างต่อเนื่องจะสะสมองค์ความรู้ สามารถดึงเอาไปใช้ได้ในเมืองอื่นและเมืองที่เล็กลงไป ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยังเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสื่อสารสาธารณะ เพราะในการดำเนินงานใดๆ จำเป็นต้องสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เขามีความเห็นอย่างไร เช่น การปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่น เจ้าของบ้านตรงที่จะปลูกต้นไม้เห็นด้วยหรือไม่ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ก็สำคัญ แต่ละจังหวัดควรจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดสำหรับเรื่องนี้ขึ้นมามีตัวแทนภาคส่วนต่างๆมาร่วม หรือไปผนวกกับคณะกรรมการของจังหวัดที่มีอยู่ จะลดความขัดแย้ง ทำให้การดำเนินงานไปได้ด้วยดี และได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ สนข.ลงไปร่วมในการส่งเสริมการใช้จักรยาน พอต่อมาเริ่มมีปัญหาจราจร-รถติดขัด ตำรวจก็ไม่ทำตามที่ตกลงกันเพราะต้องการให้รถไหลคล่อง, ส่วนการประชุมประจำปีตามยุทธศาสตร์ที่ 5 นั้น ในปีที่ 3 เป็นต้นไปน่าจะจัดได้มากกว่าปีละหนึ่งครั้ง ท้ายสุด ผู้แทน สนข. ได้แจ้งให้ทราบว่า สนข. กรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวงได้จัดทำคู่มือการสร้างทางจักรยานขึ้นมาเสร็จแล้วตามที่กระทรวงคมนาคมมอบหมาย องค์กรปกครองในท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้ หกพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการนี้อาจเป็นพื้นที่แรกที่นำไปใช้ โดยปรับให้ใช้ได้จริงตามสภาพของพื้นที่
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email