Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย จากธนาคารขยะสู่ธนาคารจักรยาน

1 More News

 

“คลินิกจักรยานและธนาคารจักรยานเกิดจากธนาคารขยะ ….“ขยะ”ที่คนมองว่าเป็นสิ่งสกปรก เป็นเรื่องที่คนไม่อยากสัมผัส แต่การเก็บขยะมาทำให้เกิดประโยชน์ น่าจะดีกว่าคนที่ทำตัวเป็นขยะสังคม”

จาก คำกล่าวของ พระครูกาญจนธรรมชัย เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แก่น(หกหลัง) ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนาบุรี ที่กล่าวถึงธนาคารขยะ ที่มีความเชื่อมโยงกับคลินิกจักรยานและธนาคารจักรยาน จนกลายมาเป็นต้นแบบพลังบวร “บ้าน วัด โรงเรียน” ซึ่งนำไปสู่การสร้างประโยชน์ของการออกกำลังกายให้กับคน 3วัยได้อย่างเอื้ออาทรกัน

พระครูกาญจนธรรมชัย ได้เล่าถึงที่มาของคลินิกจักรยานและธนาคารจักรยานว่า เริ่มจากการเริ่มรับบิณฑบาตขยะจากชาวบ้านสัปดาห์ละ 2 วัน จนวันหนึ่มีญาติโยมนำจักรยานเด็กมาถวายให้ที่วัด เนื่องจากไม่ได้แล้ว ประกอบกับที่อาตมาบิณฑบาตในทุกๆวันจะเห็นว่าเกือบทุกบ้านจะมีจักรยานที่ไม่ใช้แล้ววางทิ้งขว้างกัน อาตมาเลยเปิดขอรับบริจาคซากจักรยานของชาวบ้านแล้วซ่อมแซมเพื่อให้จักรยานคันนั้นได้นำกลับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง

พรครูกาญจนธรรมชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำเรื่องคลินิกจักรยานและธนาคารจักรยาน เริ่มจากโครงการคัดแยกขยะและธนาคารขยะที่วัด ทำให้มีซากรถจักรยานจอดรอบวัดและเห็นว่ามีผู้สูงอายุมาออกกำลังกายเป็นประจำช่วงตี 5 จึงคิดว่าน่าจะเอางานผู้สูงอายุและงานจักรยานมาร่วมกันเลยเรียกประชุม ซึ่งเริ่มแรกนำเงินที่ได้จากธนาคารขยะเป็นทุนในการซ่อม ทำให้มีจักรยานตั้งต้น 30 คัน จึงตั้งเป็นธนาคารจักรยานและคลินิกจักรยานเพื่อให้คนที่ต้องการจักรยานนำไปใช้ออกกำลังกาย หรือจักรยานที่บ้านเสียนำมาซ่อมที่วัด ระหว่างนี้ก็เอาจักรยานที่วัดไปใช้ และมีความร่วมมือระหว่างวัด บ้าน ราชการ โรงเรียน โดยคิดต่อยอดให้โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงนำจักรยานยืมไปใช้ รวมถึงการจัดกิจกรรม “ปั่นสะอาด” เพื่อดึงคน 3 ช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุ คนในชุมชน และเยาวชนมาร่วมปั่นจักรยานเก็บขยะในชุมชน เป็นต้น ความร่วมมือของพลังบวรทำให้ในชุมชนเกิดความสามัคคี ปรองดองกันมากขึ้น

หลักการยืมจักรยาน จะมีเจ้าหน้าที่ของทางวัดจะทำหน้าที่จัดชื่อ-นามสกุลของคนที่ยืมจักรยานไป ส่วนจักรยานในแต่ละคนจะมีรหัสติดที่ท้ายรถจักรยานด้วย ซึ่งมีนักเรียนบางคนที่ผู้ปกครองไม่มีเงนซื้อจักรยานก็สามารถยืมไปใช้ขี่ไปโรงเรียนได้ตลอดปีการศึกษาก็มีเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ปกครองประหยัดเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทางด้านมือซ่อมจักรยานอย่างลุงเปี๊ยะ สีสวย วัย 64ปี เล่าว่า ตนเองรับทำหน้าที่ซ่อมจักรยานให้กับทางวัดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว จากเดิมที่มีช่างซ่อมมากถึง7-8คน แต่ทุกวันนี้เหลือตนคนเดียวที่ยังทำอยู่ และได้รับค่าแรงจากทางวัด วันละ 100บาท

โดยลุงเปี๊ยะ บอกว่าจะใช้เวลาหลังจากที่ทำไร่ข้าวโพดของตัวเองเรียบร้อยแล้วอีกทั้งบ้านก็อยู่ติดใกล้กับวัด เรื่องการเดินทางจึงมีอุปสรรคใดๆ หากวันไหนที่ไม่มีงานที่ในไร่ข้าวโพด ตนจะเข้ามาทำหน้าที่ซ่อมจักรยานตั้งแต่ 8 โมงเช้า และเลิกงานในเวลาตอนเย็น เหมือนคนทำงานทั่วไป ในช่วงเวลา 1ปี ตนซ่อมจักยานไปแล้วมากถึง80คัน

หน้าที่ในแต่ละวันลุงเปี๊ยะจะทำการสำรวจจักรยานที่ได้มาว่าแต่ละคนเสียอย่างไร จากนั้นจะเอาอะไหล่ที่ใช้ได้ของจักรยานคันอื่นมาเปลี่ยนสลับกันไปมา หรือบางทีก็เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ แต่ส่วนมากจักรยานี่ได้มาจะเสียเรื่องยางมากที่สุด จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนยางใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับตนเองอยู่แล้ว เนื่องจากตัวเองก็เป็นช่างรับ ปะยางมอเตอร์ไซค์ด้วย ส่วนเรื่องการจัดหาอะไหล่และเครื่องมือเป็นหน้าที่ของท่านเจ้าอาวาสจจะเป็นผู้จัดหามาให้

“เดี๋ยวนี้บ้านไหนจักรยานพัง ก็จะนำจักรยานมาให้ซ่อมถึงที่วัดก็มี แต่ถ้าเป็นกรณีแบบนี้คนที่นำจักรยานมาให้ซ่อมจะต้องหาซื้ออะไหล่มาให้ด้วย” ลุงเปี๊ยะ กล่าว

นายอารดินทร์รัตนภู ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพภาคีและติดตามสนับสนุนชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวถึงโครงการชุมชนจักรยานหนองไม้แก่นปั่นปลอดภัยร่วมใจสร้างสุขภาวะ ต.หนองลานอ.ท่ามะกาจ.กาญจนบุรีว่า ชุมชนบ้านหนองไม้แก่นมีทุนเดิมในพื้นที่ที่เข้มแข็งคือการทำงานร่วมกันของ“บวร” บ้านชุมชนวัดและโรงเรียน โดยมีวัดหนองไม้แก่นเป็นศูนย์กลางของชุมชน ร่วมกับแกนนำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชนทำให้เกิดการต่อยอดกับโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเพื่อให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นผู้ใช้จักรยานพื้นฐานในพื้นที่พบปัญหาการขาดแคลนจักรยานจึงเป็นที่มาของศูนย์คลินิกจักรยานชุมชนโดยวัดหนองไม้แก่น ขอรับบริจาคจักรยานมือสองที่เสียไม่ใช้แล้วมาซ่อมเป็นขยะเพิ่มมูลค่าให้สามารถใช้การได้และเกิดอาสาซ่อมโดยหลวงพี่และชาวบ้านในชุมชนเรียนรู้การเป็นช่างซ่อมจากวิทยาลัยสารพัดช่าง จนเกิดธนาคารจักรยานของชุมชนในวัด

นายอารดินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันมีจักรยานให้บริการถึงกว่า 100 คัน แก่ประชาชนที่มาลงทะเบียนยืมใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ผู้บริหารเทศบาลตำบลหนองลานยังร่วมสนับสนุนเส้นทางสัญจรเอื้อต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยจากโรงเรียนแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและวัดรวมทั้งมีการคัดเลือกบุคคลต้นแบบที่มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานพร้อมกับเจ้าอาวาสจะเชิญชวนให้คนในชุมชนใช้จักรยานและบอกถึงคุณประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับธรรมะตามหลักพุทธศาสนาโดยเน้นการสร้างคนร่วมกับการสร้างความยั่งยืนของกิจกรรมที่ลงมือทำควบคู่กันซึ่งในปี 2559 สสส.ได้ส่งเสริมให้เกิดชุมชนที่เป็นมิตรต่อคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอีก 99 ชุมชน เป็นการตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศในการเพิ่มกิจกรรมทางกายของคนอายุ11 ปีขึ้นไปไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 2564

นายนราธิป สุภาราญ รองนายกเทศมนตรี หนองลาน กล่าวว่า เทศบาลตำบลหนองลานได้ขับเคลื่อน “โครงการชุมชนจักรยานบ้านหนองไม้แก่น ปั่นปลอดภัย ร่วมใจสร้างสุขภาวะ”ร่วมกับวัดหนองไม้แก่นที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานในชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมโดยการจัดตั้งคณะทำงานและจัดประชุมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นำเสนอข้อมูลเรื่องการใช้จักรยานและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของคนในชุมชน มีการออกแบบกิจกรรมที่หนุนเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่ เช่น จัดรณรงค์ปั่นจักยานในระยะทางที่ใกล้ปลอดภัยและประหยัด จัดทำป้ายรณรงค์เส้นทางปลอดภัยในการใช้จักรยานในชุมชนจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการใช้จักรยานและการซ่อมบำรุงเบื้องต้น/กฎจราจร จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างสร้างสรรค์โดยใช้จักรยานเป็นสัญลักษณ์ในกลุ่มเด็ก เยาวชน วัยทำงานและผู้สูงอายุในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย วิทยุชุมชน ติดป้ายรณรงค์ เพื่อเชิญชวนให้ชุมชนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน รวมทั้งจัดเวทีประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนต่อการใช้จักรยานในการเดินทาง เช่น จำนวนผู้ใช้จักรยานในชุมชน แนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชน เป็นต้น เริ่มแรกมีจักรยานเข้าร่วม 80 คัน ปัจจุบันมีจักรยานเข้าร่วม 220 คัน (ยังมีผู้เข้าร่วมขึ้นทุกๆ วัน)ประชาชนในชุมชนมีการตื่นตัวให้การตอบรับและให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก

ธนาคารขยะอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่ชุมชนหนองไม้แก่น สามารถนำเงินที่ได้จากการขายขยะมาต่อยอดการสร้างเสริมสุขภาพด้วย่อมแซมจักรยานที่ชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมาเป็นจักรยานที่สามารถใช้งานได้อีกครั้ง อีกทั้งยังส่งเสริมให้คนในชุมชนรักการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน จึงไม่น่าแปลกใจที่ชุชนหนองไม้แก่นจะเป็นชุมชนตัวอย่างที่มีความเข้มแข็ง ที่มาจากพลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน ที่สามารถเปลี่ยนขยะให้กลายมาเป็นธนาคารจักรยานเพื่อชุมชนได้

 

Print Friendly, PDF & Email