Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย คุณรู้ไหมว่าจักรยานให้อะไรบ้าง(เป็นตัวเลขอีกครั้ง)

โปสเตอร์นี้ออกมาในยุโรปที่แม้การใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางเพื่อประกอบกิจในชีวิตประจำวันจะเพิ่มขึ้นทุกประเทศ แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ตัวเลขออกมาย้ำกันชัดๆ ดึงดูดให้คนที่ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้จักรยานเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะได้รับผลที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เมื่อใช้จักรยาน โดยใช้ตัวเลขง่ายๆ ที่เป็นไปได้และทำให้เห็นภาพมาเป็นฐานในการคิด นั่นคือการเปลี่ยนพาหนะในการเดินทางไปทำงาน(หรือไปเรียนหรือทำกิจธุระต่างๆ)ในชีวิตประจำวันเป็นระยะทาง(สมมติ)วันละ 16 กิโลเมตร จากรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นรถจักรยาน
ประการแรกคือ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในสภาพที่เศรษฐกิจยากลำบาก สิ่งแรกที่คนคิดถึงคือการมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จักรยานให้ได้ทันที ผู้เปลี่ยนพาหนะในการเดินทาง 16 กิโลเมตรจากรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นรถจักรยาน จะประหยัดเงินไปได้วันละเกือบ 10 ยูโร(ราว 370 บาท)
ประการที่สอง ผลดีต่อด้านสิ่งแวดล้อม คนทั่วไปยอมรับแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง และจำนวนมากเห็นหรือรู้สึกได้ถึงผลของมัน การได้ทำอะไรเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยตนเองจึงดึงดูดใจ ผู้เปลี่ยนพาหนะในการเดินทาง 16 กิโลเมตรจากรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นรถจักรยาน จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ไปได้วันละราว 5 กิโลกรัม
ประการที่สาม ผลดีต่อสุขภาพ ปัญหาสุขภาพที่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมเมืองทั่วไปไม่ว่าที่ไหนคือ สภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ที่นำไปสู่การเจ็บป่วยหลายอย่าง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้เปลี่ยนพาหนะในการเดินทาง 16 กิโลเมตรจากรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นรถจักรยาน จะเผาผลาญไขมันได้ราววันละ 360 คาลอรี โดยไม่ต้องจัดเวลาและเสียเงินไปออกกำลังกายเป็นพิเศษขึ้นมาแต่ประการใด
ดังนั้นหากคุณยังใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเผาเชื้อเพลิงที่มาจากซากดึกดำบรรพ์ (น้ำมัน ก๊าซ)สร้างพลังงานในการขับเคลื่อน เปลี่ยนมาใช้รถจักรยานแทนเถอะครับ อย่างน้อยก็สำหรับการเดินทางระยะสั้น ทุกครั้งที่คุณทำเช่นนั้น คุณก็จะได้ผลทั้งสามข้างต้นนี้แน่นอน แม้ว่า ตัวเลขของผลดีที่คุณได้อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ใช้ในการคำนวณข้างต้น เช่น ชนิดและราคาของเชื้อเพลิง ชนิดของเครื่องยนต์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาซ่อมแซมรถยนต์ และระยะทางที่ใช้เดินทางจริง เป็นต้น
กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
พฤษภาคม 2560

Print Friendly, PDF & Email