Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย สังคมจักรยานสร้างได้

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุกิจ

4 เมษายน 2561

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

นักวิชาการอิสระ / ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านภาษาอังกฤษ

 

สังคมจักรยาน สร้างได้

การเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องเก่าที่นำมาปัดฝุ่นให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ชีวิตปัจจุบันได้ในหลายบริบท

การประชุมที่จัดโดยสถาบันการเดินและการจักรยานไทยเมื่อเร็วๆนี้ ได้จัดสัมมนาและเผยแพร่งานวิจัยที่เป็นกรณีศึกษาในหลายหัวข้อเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ

หลายหัวข้อเป็นเรื่องที่น่าสนใจอาทิ โครงสร้างพื้นฐานและกายภาพของเมือง-ชุมชน ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสู่เมืองที่เป็นมิตรกับคนใช้จักรยาน การออกแบบวางแผนพัฒนาเส้นทางระบบขนส่ง โครงข่ายเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาต่อยอดชุดต้นแบบชุดมอเตอร์ช่วยขับสำหรับผู้สูงอายุ การจัดการการท่องเที่ยววิถีชุมชนด้วยจักรยานและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน นโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้คนในเมือง-ชุมชนเห็นความสำคัญและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในแต่ละเรื่องก็มีกรณีศึกษาอีกหลายเรื่องจากการวิจัยในพื้นที่

เรื่องนี้น่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นทุกทีทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็ก ในเมืองใหญ่ที่น่าจะมาแรงคือการเดินและปั่นต่อรถไฟฟ้า เพราะเรากำลังจะมีรถไฟฟ้ากว่าสิบสายครอบคลุม กทม.และปริมณฑล ประชาชนที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ก็สามารถใช้จักรยานหรือเดินไปใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น สังคมบ้านเรากำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุตอนนี้ ถ้าไม่มีความสะดวกในการเดินทางเช่นรถไฟฟ้า ผู้สูงอายุจำนวนมากคงต้องนอนอยู่กับบ้าน กลายเป็นคนติดบ้านติดเตียง มีปัญหาสุขภาวะ ไปพบใครด้วยตนเองไม่ได้ ชีวิตอับเฉารอวันลูกหลานมาเยี่ยม เพราะไปเยี่ยมลูกหลานด้วยตัวเองไม่ได้ รถไฟฟ้านำสิ่งดีๆมาสู่ชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกคนได้รับโอกาสเช่นนั้น

สถาบันการเดินและการจักรยานไทยจึงพยายามผลักดันให้มีโครงการย่อยรองรับระบบขนส่งทางรางและขนส่งมวลชนอื่นๆไม่ว่าทางถนน ทางเรือ และแม้กระทั่งทางอากาศ โดยพยายามสร้างการเชื่อมต่อให้การเชื่อมโยงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวคิดที่เสนอโดยนักวิชาการและนักวิจัยในพื้นที่ อีกไม่ช้า หลายจังหวัดก็จะมีรถไฟฟ้า มีระบบขนส่งทางรางอีกหลายระบบไม่ว่าระบบรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางจากบ้านไปสถานีขนส่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวางนอกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ในวันประชุมนั้น ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาในบางหัวข้อ และพยายามจับประเด็นว่าโดยรวมๆแล้ว เรื่องการเดินและการใช้จักรยานนั้น ทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาสนใจมากขึ้น หลังจากที่ได้ว่างเว้นมานานเพราะการเข้ามาของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มาครองพื้นที่ และจำนวนประชาชนที่ใช้จักรยานก็หดหายไปจำนวนมาก

โลกเรากำลังเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปกำลังสร้างปัญหามลพิษ ทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น อุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนก็พุ่งสูงมากเป็นอันดับต้นๆของโลก และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้ การหันกลับมาใช้การเดินและจักรยานในชีวิตประจำวันจึงน่าจะตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ในตัวเอง

ปัญหามีอยู่ว่า ประชาชนมีความเคยชินกับการใช้ชีวิตบนถนนโดยใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์มานานหลายสิบปี การกลับไปใช้วิธีการดั้งเดิมคงต้องมีการปรับพฤติกรรมกันอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ต้องพยายาม การปรับพฤติกรรมนั้นมีกระบวนการขั้นตอนที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อให้สังคมคล้อยตามด้วยความเต็มใจ ไม่ควรใช้วิธีออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยไม่จำเป็น มิฉะนั้นอาจเกิดการต่อต้านมากกว่าเห็นพ้อง แล้วการเดินต่อก็คงยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

ในเรื่องการสร้างสังคมจักรยานนั้น มีความเห็นดังนี้

ต้องให้สังคมเห็นประโยชน์ ต้องconvinceให้สังคมตระหนักในประโยชน์ เพราะถ้ามองไม่เห็นประโยชน์เมื่อเทียบกับอย่างอื่น สังคมก็คงไม่สนใจ
รัฐต้องอำนวยความสะดวก รัฐต้องถามประชาชนความต้องการของชุมชนต้องอำนวยความสะดวกตั้งแต่เรื่องถนน ไฟส่อง ทางระบายน้ำ ความปลอดภัย ที่ฝากจักรยาน ตลอดถึงความปลอดภัยจากการถูกประทุษร้ายในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
สร้างการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของหวงแหน แต่ต้องมาจากความสมัครใจ อย่างเป็นอิสระ ไม่เป็นเชิงบังคับ มีการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนในสังคมเข้าร่วมทำกิจกรรมได้จำนวนมาก
รัฐต้องสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทั้งคนปกติและผู้พิการให้สามารถเข้าถึงใช้พื้นที่ได้เหมือนคนปกติ ทำให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงได้ออกมาสู่โลกภายนอกได้ด้วยตนเองมากขึ้น เพราะสังคมของเรากำลังเป็นสังคมผู้สูงวัยที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ไม่ใช่ครอบครัวขยายเหมือนก่อน ไม่มีลูกหลานดูแลตลอดเวลา
พยายามให้ศูนย์อิทธิพลในสังคมชุมชนเป็นต้นแบบเพราะจะสร้างความสนใจได้มากกว่า หัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมออนามัย ผู้ที่เป็นที่รู้จักต้องออกมาผลักดันและทำให้ดูเป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวัน
ในระยะเริ่มต้นต้องมีการปรับพฤติกรรม อาจต้องมีเรื่องสิทธิประโยชน์(Incentives)เช่นมีที่จอดจักรยานโดยเฉพาะให้ในสถานที่ต่างๆ สร้างการยอมรับในสังคมให้มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจ แต่ไม่ใช่มีสิทธิเหนือคนอื่น
กฎหมายควรมีน้อยสุด ยึดหลักการสร้างวินัยและสิทธิประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมเพราะเรื่องสุขภาพอนามัยค่อนข้างเป็นนามธรรม ถ้าไม่ป่วยไม่คิดถึง พอป่วยก็สายเสียแล้ว
การรณรงค์ควรจะทำไปพร้อมๆกับการรณรงค์เรื่องอื่นๆเช่นเลิกบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า ไม่กินหวานที่ทำให้เกิดโรคที่ไม่ติดต่อ (non-communication disease) เช่นเบาหวาน ความดัน หัวใจ เพราะไปด้วยกันอยู่แล้ว เป็นเรื่อง ลดความเสี่ยง เพิ่มความสุข
การใช้ชีวิตหรือวิถีชีวิตของสังคมชุมชนเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมาช้านานปรับเปลี่ยนยากการปรับพฤติกรรมต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าพฤติกรรมจะปรับเปลี่ยนอย่างถาวร และ
ต้องมีการเก็บข้อมูลสถิติ ต้องทำต่อเนื่อง โยงให้เห็นเป็นรูปธรรมให้สังคมรับรู้ว่าหลังเกิดการเปลี่ยนแปลง สุขภาพอนามัยของประชาชนในสังคมดีขึ้นอย่างไร อัตราการเจ็บป่วยลดลงจากก่อนเกิดโครงการอย่างไรเพื่อให้เกิดการต่อเนื่อง
การเดินและการใช้จักรยานเป็นแนวโน้มที่เป็นที่ยอมรับของโลกพัฒนาแล้ว เรากำลังเข้าสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิต แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่ยิ่งประเทศพัฒนา ยิ่งมีคนป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น

ทำให้การเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นรูปธรรม ทำให้เรื่องของการลดความเสี่ยง สร้างความสุขให้เกิดขึ้นจริงๆ สังคมจักรยาน เราสร้างได้

Print Friendly, PDF & Email