Home ข้อมูลความรู้ บทความ ฉันเป็นผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบ

เมื่อผมไปอัดเสียงรายการ “จิบกาแฟข้างสภา” ของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ดำเนินรายการโดยคุณบัญชร วิเชียรศรี ผู้ช่วยหัวหน้าสถานี และออกอากาศไปแล้วเมื่อเวลา 11.00-12.00 น.ของวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น ผมได้พูดไปค่อนข้างมากเกี่ยวกับงานที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย / สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ทำในช่วงห้าปีที่ผ่านมาในการผลักดันให้การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นนโยบายสาธารณะของไทย ซึ่งก็คือเป็นนโยบายของรัฐบาล คุณบัญชรจึงได้ถามถึงบทบาทของผู้ใช้จักรยาน

คำตอบของผมก็เป็นดังที่ได้เคยพูดกับผู้ใช้จักรยานมาโดยตลอดว่า การปฏิบัติตัวของผู้ใช้จักรยานเองมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการที่รัฐบาลมีนโยบาย กฎหมาย มาตรการ และงบประมาณ มาสนับสนุนการใช้จักรยาน แน่นอนว่าการมีทางและระบบจราจรเฉพาะของจักรยานเองจะทำให้การใช้จักรยานเป็นไปอย่างสะดวก สบาย และปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีที่ใดในโลกที่จะมีทางและระบบจราจรสำหรับจักรยานได้ทุกแห่งและดีสมบูรณ์ ผู้ใช้จักรยานต้องใช้ทางร่วมกับยานพาหนะอื่นๆ และคนเดินเท้า ไม่มากก็น้อย ดังนั้นหากจะให้ผู้ใช้ทาง-ถนนทุกกลุ่มแบ่งปันพื้นที่ใช้ประโยชน์จากทาง-ถนนในการเดินทางร่วมกันอย่างสงบสุข โดยเฉพาะจะให้ผู้ใช้รถ-ผู้ใช้ยานยนต์เอื้อเฟื้อ ปฏิบัติอย่างดีต่อผู้ใช้จักรยาน ผู้ใช้จักรยานก็ต้องทำตัวให้ “น่ารัก” ต้องเคารพกฎจราจรและกฎการใช้ทางและพื้นที่ที่ตนเข้าไปใช้เช่นเดียวกับผู้อื่น ไม่ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ในขณะที่เอื้อให้ผู้ที่มี “กำลัง-ศักยภาพ” น้อยกว่านั่นคือคนเดินเท้า ไม่ว่ากฎการใช้ทางจะเขียนไว้ว่าอย่างไร

ในสิงคโปร์ รัฐบาลได้เริ่มส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมาหลายปีแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของการวางผังจัดระบบเมืองเพื่อให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยการลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และได้สร้างระบบและโครงสร้างพื้นฐานมาเอื้อให้ใช้จักรยานได้สะดวก สบาย และปลอดภัย เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีคนใช้จักรยานมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งกับผู้ใช้ “ทาง” รายอื่น เป็นความขัดแย้งกับผู้ใช้รถและยานยนต์ทั้งหลายบนถนน และความขัดแย้งกับคนเดินเท้าเมื่อผู้ใช้จักรยานขึ้นไปขี่บนทางเท้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายครั้งที่ผู้ใช้จักรยานเป็นผู้ก่อหรือมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้จักรยานเองต้องแสดงความรับผิดชอบ ประพฤติตัวให้ถูกต้องเหมาะสม และต้องเตือนผู้ใช้จักรยานคนอื่นเช่นกัน ตัวอย่างที่ดีคือ Francis Chu หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำของกลุ่มรักการใช้จักรยานสิงคโปร์ (Love Cycling Singapore – LCSG) ซึ่งเขียนถึงประเด็นนี้เป็นประจำในเฟสบุ๊กของกลุ่ม ในส่วนของรัฐบาล นอกจากการใช้มาตรการทางกฎหมายมากำกับพฤติกรรมของผู้ใช้ทาง-ถนนทุกกลุ่มแล้ว ทางการสิงคโปร์ยังรณรงค์กับผู้ใช้จักรยานเป็นการเฉพาะด้วย เมื่อเร็วๆนี้ก็ได้ออกโปสเตอร์มาแผ่นหนึ่งชื่อว่า ฉันเป็นผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบ (I am a Responsible Cyclist) ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมหยิบยกมาเขียนในครั้งนี้

ผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบเป็นอย่างไร? ทำตัวอย่างไรจึงจะเรียกว่ามีความรับผิดชอบ? โปสเตอร์ของทางการสิงคโปร์บอกไว้ว่าผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบประพฤติปฏิบัติตนดังนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

• ฉันขี่จักรยานอย่างระมัดระวังและอย่างปลอดภัย
• ฉันดูแลสวัสดิภาพของผู้อื่น
• ฉันมีมารยาทกับคนทุกคน
• ฉันชะลอความเร็วลงให้คนอื่น
• ฉันจอดจักรยานทุกคันอย่างดี
• ฉันระมัดระวังคนอื่น
• ฉันแบ่งปันพื้นที่อย่างเป็นธรรม
• ฉันเป็นผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบ
ทางการสิงคโปร์สรุปการแสดงออกของการเป็น “ผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบ” ไว้สั้นๆ เท่านี้ บางข้อเห็นได้ชัดว่าเป็นการนิยามความรับผิดชอบที่ตอบสนองต่อปัญหาหรือสถานการณ์ที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานในสิงคโปร์ขณะนี้ ซึ่งผู้ใช้จักรยานถูกมองมากขึ้นว่า “ไม่รับผิดชอบ” เช่น การขี่จักรยานบนทางเท้าที่คุกคามหรือถึงขั้นทำให้คนเดินเท้าบาดเจ็บ และการจอดจักรยาน(ทิ้ง)อย่างเกะกะไม่เป็นระเบียบ แต่เมื่อมองให้กว้างแล้ว ประเด็นการแสดงความรับผิดชอบที่เสนอมาก็มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมมาก และทุกข้อก็เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ที่เมื่อปฏิบัติอย่างดีครบถ้วนแล้ว โดยคร่าวๆ คุณจะเป็นผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบโดยพื้นฐาน ไม่ว่าจะใช้จักรยานในสังคมใด วันนี้ผมจึงขอนำคุณสมบัติของการเป็นผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบจากสิงคโปร์นี้มาขยายความ

ประการแรก การขี่จักรยานอย่างระมัดระวังและอย่างปลอดภัย เริ่มต้นด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎการใช้ทาง-ใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเคร่งครัดเสมอ เพราะกฎเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนแบ่งปันใช้ทางใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างมีความสุขและปลอดภัย เหตุร้ายที่เกิดจากการใช้ทางใช้พื้นที่ร่วมกันส่วนใหญ่ที่สุดเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ (ทำให้มีหลายคนเลิกใช้หรือผลักดันให้เลิกใช้คำว่า “อุบัติเหตุ” ซึ่งให้ความรู้สึกว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดได้ ไม่อาจป้องกันได้) ทั้งที่คาดได้เลยว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎจะนำไปสู่ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่ การเกิดเหตุร้าย ดังนั้นส่วนใหญ่ที่สุดแล้ว เหตุร้ายที่เกิดขึ้นในการใช้จักรยานเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้


ผู้ใช้จักรยานเคลื่อนไปบนถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นอย่างกลมกลืนที่สี่แยกบ้านแขก ย่านธนบุรี กรุงเทพฯ

ผมพูดกับผู้ใช้จักรยานเสมอว่า การใช้ถนนไม่มีความปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าคุณขี่จักรยานอย่างระมัดระวัง คุณจะลดความเสี่ยงลงจนต่ำ หรือไม่เพิ่มความเสี่ยง คุณจะมีส่วนสร้างความปลอดภัยและป้องกัน “อุบัติเหตุ” ไปได้อย่างมากแล้ว เช่น เมื่อคุณไปขี่จักรยานบนทางเท้า คุณต้องขี่ให้ช้าลงไม่ว่าจะเห็นคนใช้ทางเท้าอยู่หรือไม่ก็ตาม เมื่อมีคนใช้ทางเท้า คุณต้องขี่ให้ช้าลงอีกจนความเร็วใกล้เคียงกับคนเดินเท้า หรือช้าที่สุดเมื่อมีเด็กเล็กอยู่ด้วย และหากมีคนเดินเท้าพลุกพล่าน คุณควรจะเปลี่ยนจากการปั่นมาเป็นการเข็นแทน และหยุดหลีกทางให้คนเดินทางไปก่อนหากต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหลีกทางให้กัน นี่คือหลักทั่วไปไม่ว่าจะมีกฎหรือมีป้ายบอกว่าต้องให้สิทธิ์คนเดินเท้าในการใช้ทางก่อนหรือไม่ก็ตาม

เมื่อคุณจะใช้ทาง-ถนนร่วมกันให้มีความสุข แน่นอนว่าคุณต้องมีมารยาทกับผู้อื่น ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ดูแลสวัสดิภาพของคนอื่นด้วย อย่าเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนหรือเอาต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ เช่น การรู้จักให้ทางกับผู้ใช้ทางใช้ถนนร่วมกันคนอื่น ไม่เพียงแต่คนเดินเท้าที่ผู้ใช้จักรยานต้องคำนึงถึงและควรให้ทางก่อนเสมอ ไม่ว่าจะมีกฎหรือป้ายบอกไว้หรือไม่ก็ตาม แต่หมายถึงให้ทางกับยานยนต์ด้วย และเมื่อผู้ใช้รถให้ทางกับคุณ คุณก็ควรจะแสดงความขอบคุณอย่างนอบน้อมด้วยท่าทีหรือวาจา เมื่อเขารู้สึกดีกับการเมตตาเรา เขาก็จะทำอีกต่อไปกับผู้ใช้จักรยานทุกคนในอนาคต

การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของการขี่จักรยานอย่างระมัดระวัง อย่างปลอดภัย อย่างมีมารยาท และอย่างเอาใจใส่ต่อสวัสดิภาพของผู้อื่นอย่างหนึ่งคือ การขี่จักรยานด้วยความเร็วที่เหมาะสม ไม่ขี่เร็วมากเมื่อคุณขี่ในเมือง ใช้ทางใช้ถนนที่พลุกพล่าน เมื่อเราเรียกร้องผลักดันให้มีการจำกัดความเร็วของยานยนต์ ที่เป็นมาตรฐานคือไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทุกแห่งในเมือง และไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในบริเวณที่มีคนเดินเท้าใช้ทางมาก ผู้ใช้จักรยานก็ต้องไม่ขี่จักรยานเร็วมากเช่นกัน มากสุดก็น่าจะไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับความเร็วที่จำกัดไว้สำหรับจักรยานที่มีเครื่องยนต์ไฟฟ้าช่วยขับเคลื่อนในยุโรป แน่นอนว่าหากคุณขึ้นไปขี่จักรยานบนทางเท้า คุณต้องขี่ช้าลงไปอีก และจำไว้เสมอว่า คุณต้องชะลอความเร็วลงเมื่อมีผู้ใช้ทางคนอื่นอยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะไปทางเดียวกันหรือสวนทางมา และชะลอความเร็วลงเมื่อคุณขี่จักรยานอยู่บนถนนที่เป็นทางหลักและมีทางรองมาบรรจบหรือแยกออกไป หรือถึงขั้นหยุดรถเมื่อถนนที่คุณขี่อยู่ไปพบถนนอื่น เป็นสามแยก สี่แยก วงเวียน ฯลฯ รอจังหวะให้คุณสามารถขี่เข้าไปร่วมผสานอยู่ในกระแสการเคลื่อนที่ของยานพาหนะอื่นอย่างกลมกลืนไม่ขัดขวางการจราจร อีกประการหนึ่งคือ การใช้สัญญาณมือเสมอ เมื่อคุณจะเปลี่ยนทิศทาง เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา หรือแม้แต่ยืนยันว่าคุณจะตรงไป เมื่อถึงทางแยก หรือเมื่อเปลี่ยนช่องทางจราจรบนถนน

ผู้ใช้จักรยานหยุดรอสัญญาณไฟและจังหวะการจราจรที่ย่านยมราช กรุงเทพฯ

โดยรวมแล้ว คุณจะต้องระมัดระวังเสมอ อย่าทำกิจกรรมใดที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจหรือการมีสมาธิจดจ่อไปจากทางและสภาพรอบข้างที่คุณจะเคลื่อนที่ไป เช่น ฟังเพลง หรือใช้โทรศัพท์มือถือ
ที่ควบคู่ไปกับการใช้จักรยานอย่างมีมารยาท หรือจะว่าไปก็เป็นการแสดงออกถึงการใช้จักรยานอย่างมีมารยาทคือ การแบ่งปันใช้ทางใช้พื้นที่อย่างเป็นธรรม การใช้จักรยานแม้จะมีข้อดี สร้างประโยชน์ให้ตัวคุณเอง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลก มากมายเพียงใด ก็ไม่ได้ทำให้คุณเป็นอภิสิทธิ์ชน เช่น ประการแรก เมื่อมีทางที่ทำให้จักรยานแยกออกมาจากผู้ใช้ถนนเป็นการเฉพาะหรือจัดช่องทางหนึ่งบนถนนให้เป็นช่องทางสำหรับจักรยาน ผู้ใช้จักรยานก็ควรจะขี่ในทาง-ช่องทางนั้น ไม่ว่าทั้งถนนจะว่างอยู่ก็ตาม และหากช่องทางนี้ใช้ไม่ได้ เช่น มียานพาหนะใดมาจอดทับ ต้องขี่ออกไปข้างนอก ก็ควรกลับมาใช้ทันทีที่ทำได้ ประการต่อมา เมื่อจักรยานเป็นยานพาหนะที่ช้าที่สุดบนถนน ก็ควรใช้ช่องทางจราจรที่จัดไว้สำหรับยานพาหนะที่ใช้ความเร็วน้อยที่สุด โดยทั่วไปคือชิดขอบทางด้านซ้าย และจากการที่จักรยานเป็นยานพาหนะที่เล็กที่สุด ก็ควรใช้พื้นที่น้อยที่สุดเท่าที่จะขี่ได้ปลอดภัย หากขี่ไปด้วยกันหลายคันก็ควรขี่เรียงเดี่ยว ยกเว้นเมื่อถนนค่อนข้างว่าง มีการจราจรน้อยก็อาจจะขี่สองคันคู่กันได้ตามที่กฎหมายอนุญาต แต่ไม่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการขี่ในถนนที่กว้างเพียงใดว่างเพียงใดก็ตาม การขี่เป็นแพเป็นสิ่งที่ควรไม่ทำอย่างยิ่ง นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมขี่จักรยานขึ้นมาเป็นพิเศษและมีการปิดถนน-จัดถนนให้ขบวนจักรยานใช้โดยความเห็นชอบและการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร อย่างไรก็ตาม การจัดถนนให้ขบวนจักรยานไปได้สะดวกเป็นพิเศษในขณะที่ทำให้การจราจรของยานพาหนะอื่นติดขัดมาก ไม่ทำให้ผู้ใช้ถนนอื่นรู้สึกดีกับผู้ใช้จักรยานแต่อย่างใด และอาจทำให้ความสัมพันธ์ในการใช้ถนนร่วมกันในวันอื่นของปีไม่เป็นไปอย่างราบรื่นเท่าที่ควรจะเป็น

ส่วนการที่ผู้ใช้จักรยานควรจอดจักรยานอย่างดีนั้น แม้ว่าจะไม่เป็นประเด็นในไทยขณะนี้ ก็มองว่าเป็นอีกรูปธรรมหนึ่งของการแบ่งปันใช้ทางใช้พื้นที่อย่างเป็นธรรมได้ ในทางปฏิบัติคือการจอดจักรยานในบริเวณที่จัดให้จอดจักรยานหากมี และถ้าไม่มีที่จอดจักรยานเป็นการเฉพาะ ก็ควรจอดให้เป็นระเบียบ ไม่เกะกะขวางทาง หรือดูแล้วรกรุงรัง
อ่านมาทั้งหมดนี้แล้ว คุณเป็นผู้ใช้จักรยานที่รับผิดชอบหรือไม่ครับ

กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email