Home ข้อมูลความรู้ บทความ สิงคโปร์ก้าวอย่างไม่หยุดยั้งสู่การเป็นชาติที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน (ตอนที่ 1)


แผนที่เครือข่ายเส้นทางจักรยานในย่านใจกลางเมืองสิงคโปร์ สีฟ้าเป็นเส้นทางจักรยานที่มีอยู่แล้วขณะนี้
สีเหลืองเป็นเส้นทางที่อยู่ในแผนจะสร้างเชื่อมโยงย่านใจกลางเมืองกับย่านที่อยู่อาศัยห่างออกไป

เราอาจได้ยินมาบ้างแล้วว่าสิงคโปร์มีอะไรใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะในการส่งเสริมการใช้จักรยาน ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมใจกันลงข่าวถึงสถานการณ์การใช้จักรยานในสิงคโปร์ โดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้เอื้อให้ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันในนครรัฐแห่งนี้ทำได้สะดวกขึ้น โดยมีเป้าชัดเจนว่าจะทำให้ย่านใจกลางเมืองมีการใช้รถยนต์เบาบางที่สุด
การสร้างระบบและโครงสร้างที่เอื้อให้ใช้จักรยานและเดินได้สะดวก สบาย และปลอดภัยนี้เป็นไปอย่างเป็นระบบเพราะเป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์การขนส่งทางบก (Land Transport Authority – LTA) กับองค์การพัฒนาเขตเมืองใหม่ (Urban Redevelopment Authority – URA) URA เป็นหน่วยงานที่วางแผน พัฒนาและจัดการการใช้พื้นที่เมืองของสิงคโปร์ นั่นคือพื้นที่ทั้งหมดของนครรัฐที่เป็นเกาะแห่งนี้นั่นเอง ทั้งสองหน่วยงานอยู่ใต้กระทรวงเดียวกันทำให้การประสานงานร่วมคิดร่วมทำเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่ง
ที่เด่นที่สุดคงไม่เกินการเดินหน้าสร้างเครือข่ายทางจักรยาน จากเดิมที่สิงคโปร์เปิดตัวด้วยทางจักรยานที่เชื่อมสวนสาธารณะต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือ Park Connectors Network (PCN) เพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนด้วยการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อห้าปีก่อนมาเป็นทางจักรยานที่รองรับการใช้จักรยานไปทำงาน ไปเรียน และไปประกอบกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีทางที่ทำไว้ให้ขี่จักรยานเป็นการเฉพาะ เชื่อมโยงย่านที่พักอาศัยทั้งทางเหนือ ใต้ ออก ตก ของเกาะเข้ากับย่านใจกลางเมืองที่เรามักเห็นในภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ ซึ่งอยู่ทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ


วันเปิดถนนเบนคูเลนที่ปรับปรุงใหม่ถูกจัดให้เป็น “วันปลอดรถ” ให้ผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนตัวและผู้ใช้จักรยานออกมาซึมซับบรรยากาศใหม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2017 มีการเปิดถนนเบนคูเลน (Bencoolen Street) ยาว 450 เมตรที่ปรับปรุงใหม่ โดยลดช่องทางจราจรสำหรับรถยนต์ที่เดิมมีอยู่สี่ช่องทางลงให้เหลือเพียงสอง และเปลี่ยนอีกสองช่องทางเป็นทางเดินเท้าและทางจักรยาน มีที่จอดจักรยาน 125 คัน และมีทางที่มีหลังคาคลุมเชื่อมป้ายรถประจำทางและสถานีรถไฟฟ้า MRT กับอาคารพาณิชย์และวิทยาลัยวิจิตรศิลป์นานยาง(Nanyang Academy of Fine Arts) ซึ่งเป็นที่หมายหลักของคนที่เดินทางไปที่ย่านนั้น เอื้อให้ชาวสิงคโปร์หันมาใช้การขนส่งที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ได้สะดวกที่สุด (นี่เป็นวิธีเดียวกับที่มหาวิทยาลัยมหิดลทำที่วิทยาเขตศาลายา ยังผลให้การเดินและการใช้จักรยานในวิทยาเขต เติบโตอย่างขนานใหญ่ และการใช้รถยนต์ส่วนตัวภายในพื้นที่ลดน้อยลง)

ทางการสิงคโปร์ฉลาดในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เช่น การให้นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าของวิทยาลัยวิจิตรศิลป์นานยางออกแบบม้านั่งบนถนน ซึ่งไม่เพียงทำให้คนเดินเท้ามีที่หยุดพัก แต่ยังมีงานศิลป์ที่ทำให้การเดินรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น URA บอกชัดเลยว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น งานปรับปรุงถนนอื่นในลักษณะคล้ายกันคือ การเปลี่ยนช่องทางรถยนต์ส่วนหนึ่งเป็นทางเดินเท้า ทางจักรยาน หรือทางที่คนเดินเท้ากับจักรยานใช้ร่วมกัน ทำให้ย่านสถานที่ราชการและย่านศิลปวัฒนธรรมน่าเดินมากขึ้น จะตามมาจนเสร็จหมดในอีกสามปีข้างหน้าคือปี 2020

(ซ้าย) ม้านั่งบนทางเท้าถนนเบนคูเลนที่ออกแบบโดยนักศึกษาวิทยาลัยวิจิตรศิลป์นานยาง…. นั่งสบายอย่างนี้ เดินสบายอย่างนี้ ใครๆก็อยากออกมาใช้ทางเท้า และ
(ขวา) รัฐมนตรีโครงสร้างพื้นฐานและรัฐมนตรีขนส่งสิงคโปร์ทดลองจอดจักรยานของเขากับที่จอดจักรยานทรงเกลียวที่ติดตั้งใหม่ที่ถนนเบนคูเลน

กวิน ชุติมา กรรมการ สถาบันการเดินและการใช้จักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email