Home ข้อมูลความรู้ บทความ การใช้การเดิน การใช้จักรยาน และขนส่งสาธารณะร่วมกันในการเคลื่อนที่เดินทางกำลังเป็นกระแสทั้งในไทยและชาติอื่นๆ

การใช้การเดิน การใช้จักรยาน และขนส่งสาธารณะร่วมกันในการเคลื่อนที่เดินทางกำลังเป็นกระแสทั้งในไทยและชาติอื่นๆ

การประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา Rio+20 ที่จัดขึ้นที่ประเทศบราซิลโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2555 ได้ข้อสรุปเป็นมติเป็นที่ยอมรับของทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมในขณะนั้น รวมทั้งประเทศไทย ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดสังคมที่น่าอยู่และยั่งยืนนั้น ต้องมีองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งในระยะสั้นเป็นการขนส่งที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (non-motorized transport) อันได้แก่การเดินและการใช้จักรยาน และในระยะที่ไกลออกไปกว่าที่จะเดินหรือขี่จักรยานได้สะดวกสบาย เป็นการใช้ขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะระบบราง และการเคลื่อนที่เดินทางด้วยวิธีต่างๆ นี้เชื่อมโยงกันต่อเนื่องเป็นเครือข่าย
ดังนั้นในมติ 5.1 ว่าด้วย “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งไทยผลักดันให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ผ่านออกมาเมื่อ พ.ศ. 2555 จึงไม่ได้มีแต่การผลักดันให้ประชาชนหันมาเดินทางในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยการเดินและการใช้จักรยานเท่านั้น หากมีข้อความระบุไว้ชัดเจนในข้อ 1.2 ด้วยว่าให้ “กระทรวงคมนาคมส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเดินเท้าและการใช้จักรยาน” จากนั้นชมรมฯ และต่อมาคือสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ก็ได้ขับเคลื่อนให้มีการนำมติดังกล่าวมาปฏิบัติ จนในปี 2560 กระทรวงคมนาคมก็ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในนโยบายของกระทรวงอย่างชัดเจน
และเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา เมื่อสถาบันฯ จัดเวทีประชุมทางวิชาการประจำปีว่าด้วยการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือ Bike and Walk Forum ขึ้นเป็นครั้งที่ 6 สถาบันฯ ก็ได้ใช้ “การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ” มาเน้นเป็นประเด็นใจกลางของการประชุม มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จากเบลเยี่ยมมาเสนอแนวคิดและประสบการณ์การทำงานเรื่องนี้ให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน/ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง และในเวทีการประชุม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคมที่มาเปิดการประชุมก็ได้กล่าวเน้นนโยบายของกระทรวงในเรื่องนี้อีกครั้ง รวมทั้งแนวทางการนำไปปฏิบัติด้วย
การขับเคลื่อนงานในแนวทางนี้ของชมรมฯ และสถาบันฯ สอดรับการเคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดันในเรื่องการเคลื่อนที่ด้วยการเดิน การใช้จักรยาน และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะร่วมกัน ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และ “การเคลื่อนที่ที่ทำร่วมกัน-แบ่งปันกันใช้พาหนะ สะอาด(ไม่สร้างมลพิษและความเสื่อมโทรม) และชาญฉลาด” ได้กลายมาเป็นจุดเน้นของการจัด “สัปดาห์การเคลื่อนที่ยุโรป” หรือ European Mobility Week ของสหภาพยุโรปในปี 2560 โดยชี้ว่า การใช้วิธีการเดินทางหลายแบบร่วมกัน (ยกเว้นการใช้ยานยนต์ส่วนตัว) นั้นให้ผู้ใช้ไม่เพียงแต่สุขภาพดีเท่านั้น หากยังให้ผลดีทางเศรษฐกิจอีกด้วย และการใช้จักรยานเด่นขึ้นมาเป็นหนึ่งในวิธีการเคลื่อนที่ขนส่งที่ยั่งยืนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเดินทางระยะสั้นกระทำเสร็จสิ้นทั้งหมดด้วยการเดินและใช้จักรยาน
เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาในกรุงบรัสเซลล์ของเบลเยี่ยม ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้วิธีการเคลื่อนที่เดินทางหลายวิธีประสานร่วมกันไป ครอบคลุมการวางแผนเมือง การเชื่อมต่อ การจัดให้บริการ และการรณรงค์ มีการแสดงตัวอย่างความสำเร็จจากเมืองต่างๆ ทั่วยุโรป เช่น บรัสเซลล์ บูดาเปส แอนทเวิป มาลโม และมาร์กเซย และมีการประกาศและมอบรางวัล European Mobility Week Awards 2017 สำหรับเทศบาลขนาดใหญ่ให้นครเวียนนาในออสเตรีย และสำหรับเทศบาลขนาดเล็กกว่าให้เมืองอิกูเมนิตสา (Igoumenitsa) ในกรีซ โดยทั้งสามเมืองที่ได้เข้าชิงในกลุ่มเทศบาลขนาดใหญ่คือ ปร๊ากในสาธารณรัฐเช็ค กรานาดาในสเปน และเวียนนา ล้วนเป็นสมาชิกของเครือข่ายเมืองและภูมิภาคเพื่อผู้ใช้จักรยาน (Cities and Regions for Cyclists Network – CRfC) ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) ซึ่งทั้งชมรมฯ และสถาบันฯ เป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยเฉพาะเวียนนาเป็นสถานที่ที่ ECF จัดประชุมจักรยานโลก Velo-city ในปี 2013 ด้วย เวียนนาซึ่งมีประชากร 1.8 ล้านคนชนะใจกรรมการตัดสินรางวัลด้วยการจัดกิจกรรมที่โดดเด่นหลากหลาย อย่างเช่นชาวเมืองสามารถยืมจักรยานขนส่ง (cargo bikes) ไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าเช่า มีการจัดพาเดินเที่ยวโดยมีมัคคุเทศก์นำและบรรยายในย่านต่างๆ ของเมือง และการปิดถนนที่เคยให้แต่รถยนต์ใช้มาให้ชาวเมืองไปปิกนิกกัน
กรรมาธิการด้านขนส่ง (คือรัฐมนตรีขนส่งของรัฐบาลสหภาพยุโรป) ที่มาเป็นผู้มอบรางวัลกล่าวว่า เมืองเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างยุโรปที่ยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชาวเมืองไปไหนมาไหนได้อย่างสะอาดขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น และหวังจะดลใจให้เมืองอื่นๆ ทำตามด้วย
สถาบันฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีพัฒนาการในทิศทางนี้เกิดขึ้นเช่นกันในประเทศไทยของเรา

 

Print Friendly, PDF & Email