Home ข้อมูลความรู้ บทความ 5 วิธีการจัดการความเครียดในช่วงโรคระบาด


ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ทุกคนล้วนมีความเครียดและความกังวลใจ ซึ่งความเครียดของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป หรือบางรายจะแสดงออกเป็นผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ลง เป็นต้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกแบบนี้ อยากแนะนำวิธีการดูแลจิตใจ เพื่อรับมือความเครียดในช่วงนี้ค่ะ

1. ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ
การดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกในทิศทางที่ดี โดยในช่วงเวลากักตัว หรือที่ต้อง Work from Home หากเรายังทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม เช่น ตื่นเช้ามาอาบน้ำแต่งตัว กินกาแฟ ให้รู้สึกเหมือนทุกวันทำงาน ก็จะช่วยให้คุณไม่จมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไป และยังช่วยให้คุณรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากโรคระบาดน้อยลงได้ด้วย

2. ออกกำลังกายคลายเครียด
การออกกำลังกาย หรือการลุกออกจากโต๊ะทำงานเพื่อยืดเส้นยืดสาย หรือเดินขึ้นลงบันได ช่วยให้คุณหลุดโฟกัสจากเรื่องที่กำลังเครียดได้ เมื่อรู้สึกว่าตนเองเริ่มมีความกังวลใจ ลองลุกขึ้นเดินสัก 10 นาที หรือหากมีเวลาก็ควรออกกำลังกายอย่างจริงจัง อย่างน้อยวันละ 30 นาที แค่ 3-5 วันต่อสัปดาห์ เพียงเท่านี้ฮอร์โมนแห่งความสุขก็ทำงานได้อย่างเต็มที่ค่ะ

3. นั่งสมาธิ  
การนั่งสมาธิ สามารถช่วยคลายความเครียดได้ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับสถานการณ์ใดก็ตาม เนื่องจากช่วงเวลาที่คุณทำสมาธิหรือฝึกลมหายใจ จะทำให้คุณนิ่งขึ้น ใจสงบ และนำมาสู่ปัญญาหาวิธีจัดการแก้ปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และได้พาตัวเองออกจากความเครียดได้อย่างมีสตินั่นเอง

4. หาเวลาผ่อนคลาย
ปัญหาหลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่จะจัดการได้ทันที การที่เอาตัวเองออกมาจากความเครียดได้สักพักหนึ่งจึงเป็นเรื่องดี โดยอาจลองให้เวลาตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ตนเองชอบ หรือหลงใหล (passion) เช่น ดูหนัง เล่นดนตรี ทำอาหาร จัดสวน ออกกำลังกาย เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น แล้วหันไปทำกิจกรรมเหล่านี้ดูบ้าง ก็จะช่วยให้สมองคุณปลอดโปร่งและไม่ไปโฟกัสกับปัญหามากเกินไป แล้วอาจทำให้คิดแก้ไขปัญหาเรื่องที่เครียดได้ด้วย

5. อย่าเสพข่าวสารมากเกินไป
แม้ว่าการติดตามข่าวสารจะช่วยให้เท่าทันเหตุการณ์ แต่การเสพข่าวสารมากเกินไปอาจทำให้คุณมีความเครียดสะสม จึงควรเลือกติดตามข่าวสารในปริมาณที่พอดี เลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการเสพข้อมูลมากเกินไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไปกระตุ้นให้คุณคิดมาก เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล ตื่นตระหนกมากขึ้นนั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.pttgcgroup.com/en/updates/feature-stories/1367/ways-to-cope-with-anxiety-and-stress-during-the-covid-19-crisis
https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/psychiatric-guidance-on-stress-management-trading-covid-19

Print Friendly, PDF & Email