Home ข้อมูลความรู้ บทความ ยิ่งคนญี่ปุ่นเดินเยอะมากขึ้นเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น

แปลและเรียบเรียงโดย: นนทนีย์ วิบูลย์กุล (Nontanee Wiboonkul)

ที่มาภาพ: https://apnews.com/article/japan-asia-pacific-coronavirus-pandemic-tokyo-16991438f9a20e2e8599b4ffde47292f

หากเราตั้งคำถามกับคนทั่วไปสัก 100 คนว่า “ชีวิตที่คุณใฝ่ฝันเป็นแบบไหน” แน่นอนที่สุดว่าเราจะต้องได้รับคำตอบมากมายจากหลายๆคนที่แตกต่างกัน อาทิ อยากเป็นคนรวย อยากมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อยากมีบ้าน มีรถ อยากแต่งงานมีลูกตัวเล็กๆ อยากเรียนจบต่างประเทศ อยากมีชีวิตสงบแต่มีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนบนโลกใบนี้สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้หากเราทุกคนมีความพยายาม มุมานะ อดทน แต่หากระหว่างทางที่คุณจะเดินทางไปถึงเป้าหมายของคุณนั้น คุณต้องพบเจอกับ ปัญหาสุขภาพ ที่รุมเร้า ย่อมทำให้การไปถึงชีวิตที่คุณใฝ่ฝันยากขึ้นไปอีก
จึงเป็นที่มาของคำว่า

Health is Wealth
ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

การมีสุขภาพดีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือรูปแบบวิถีชีวิตประจำวันที่เอื้อให้เรามีสุขภาพดี หนึ่งในนั้นจึงหนีไม่พ้น “การเดิน” วิธีการเดินทางง่ายๆเพียงใช้สองเท้าของเราเดินออกไปนอกบ้าน ก็เท่ากับเรามีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ในชีวิตประจำวันแล้ว

จากผลการวิจัยของทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อบทความวิชาการที่ชื่อ “Impact of walking upon medical care expenditure in Japan: the Ohsaki Cohort Study” ในปี 2003 ได้นำเสนอผลลัพธ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้ที่เดินเป็นประจำ และได้ทำการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ภายเขตพื้นที่ Ohsaki และจังหวัด Miyagi

โดยการศึกษาจากผลลัพธ์การศึกษาพบว่า

ยิ่งคนเราเดินนานขึ้นเท่าไหร่ ค่ารักษาพยาบาล (Medical Cost) ก็ยิ่งลดลงตามไปด้วย
โดยคนที่เดินเท้าเป็นประจำวันละ 30 นาที จะมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 111.80 ปอนด์ (4,897 บาทโดยประมาณ) ต่อเดือน

ในขณะที่คนที่เดินเป็นประจำวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ค่ารักษาพยาบาลจะลดลงอยู่ที่ 108.10 ปอนด์ (4,747 บาท โดยประมาณ) ต่อเดือน

และ คนที่เดินเป็นประจำมากกว่าวันละ 1 ชม. ขึ้นไป ค่ารักษาพยาบาลจะยิ่งลดลงไปอีกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 97.30 ปอนด์ (4,264 บาท โดยประมาณ) ต่อเดือน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้การเดินจะดูเหมือนเป็นกิจกรรมทางกายง่ายๆ แต่สามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้ ดังนั้น เรื่องการเดิน จึงดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาที่ผู้บริหารเมืองทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยควรตระหนักในเรื่องนี้ และควรมีการส่งเสริมพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดความสะดวกในการเดินเท้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีวิถีชีวิตการเดินทางที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

ประชาชนสุขภาพดีขึ้น สาธารณสุขจ่ายเงินน้อยลง เศรษฐกิจประเทศก็ย่อมเติบโตไปด้วย

ที่มา
Ichiro Tsuji, Kohko Takahashi, Yoshikazu Nishino, Takayoshi Ohkubo, Shinichi Kuriyama, Yoko Watanabe, Yukiko Anzai, Yoshitaka Tsubono and Shigeru Hisamichi. Impact of walking upon medical care expenditure in Japan: the ohsaki cohort study. (2003). Health Service Research. International Epidemiological Association.

Print Friendly, PDF & Email