Home ข้อมูลความรู้ บทความ ครบรอบหนึ่งปีการล็อกดาวน์กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

แปลและเรียบเรียงโดย : สรัสวดี โรจนกุศล และอัจจิมา มีพริ้ง

 

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

การล็อกดาวน์ของเบลเยียม เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563 นาย Philippe Close นายกเทศมนตรีเมืองบรัสเซลส์ ประกาศว่า นับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ห้ามรถยนต์ผ่านสวนบัว ดู ลา คอมบร์ (Bois de la Cambre) สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีถนนตัดผ่านระยะทาง 6 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่คนขับรถยนต์ผ่านเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมือง และชานเมืองทางใต้ มาตรการนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากเป็นมาตรการรักษาระยะห่างแล้ว ผู้คนที่มาใช้สวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังสามารถลดผลกระทบจากเสียงเครื่องยนต์ และควันรถอีกด้วย

ลดความสำคัญรถยนต์ ยกระดับจักรยาน

ในเดือนเมษายน 2563 นาย Elke van de Brandt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งบรัสเซลส์ (minister of mobility of the Brussels Capital Region) ได้ประกาศแผนการใช้ช่องทางสำหรับจักรยานแบบป๊อปอัพ (pop-up cycle lanes) ระยะทาง 40 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่างชานเมืองกับใจกลางเมือง ทำให้คนสามารถใช้จักรยานและคนเดินบนถนนได้ ต่อมาในเดือนกันยายนได้มีการประกาศเพิ่มอีก 10 กิโลเมตร และในขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนมาตรการระงับการจราจรในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจหรือเข้าถึงร้านค้าและบริการได้อย่างปลอดภัย

เป็นความสำเร็จของการประกาศมาตรการที่เกี่ยวกับการใช้จักรยานชั่วคราวทั่วทั้งเมือง นับเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทองเลยจริงๆ

หนึ่งปีหลังจากการระบาดของ COVID-19 ก็มีถนนยาวเกือบ 60 กิโลเมตรที่เป็นมิตรกับคนเดิน และคนใช้จักรยาน ทั่วกรุงบรัสเซลส์ ตัวอย่างต่อไปนี้ แสดงให้เห็นว่าเมืองที่มีรถยนต์เป็นศูนย์กลางอย่างกรุงบรัสเซลส์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและง่ายดายเพียงใด ในเวลาอันสั้นที่น่าประทับใจ

• Rue de la Loi: Brussels’ Ugliest Street ในกรุงบรัสเซลส์ Rue de la Loi เป็นถนนที่มีการจราจรหนาแน่นมาก แต่ก็ยังเป็นย่านที่คนใช้จักรยานมักแวะเวียนมามากที่สุด เพราะว่าเป็นจุดเชื่อมต่อหลักระหว่างย่าน European Quarter และศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของเมือง ต้นเดือนพฤษภาคม 1 ใน 4 ช่องจราจรที่ถูกเปลี่ยนเป็นเส้นทางจักรยานแบบสวนทาง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับคนเดินถนนและปั่นจักรยาน ไม่กี่เดือนต่อมามีเส้นทางจักรยานแบบป๊อปอัพ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ความกว้าง 10 เมตร ก็กลายเป็นเส้นทางจักรยานจากชานเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของบรัสเซลส์ไปยังยุโรป

• “Corona-Flowerpots” หรือ “กระถางดอกไม้โคโรนา” คือตัวอย่างที่น่าสนใจจาก Avenue Charles de Gaulle ริมสระน้ำ Ixelles เลือกที่จะใช้ “กระถางดอกไม้โคโรนา” ในการปิดถนนแทนแบริเออร์ที่เป็นพลาสติกหรือแท่นปูน เพื่อกั้นไม่ให้รถยนต์เข้าไปใช้พื้นที่ถนนและเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับคนเดินเท้ามากขึ้น เมื่อทางเดินเท้ามากขึ้นก็สามารถลดความแออัดของคนเดินบนทางเท้าได้ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คนต้องการพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในเมืองต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้กระถางดอกไม้จึงตอบโจทย์ของคนในเมืองนี้

ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และได้รับความที่นิยม แต่มาตรการชั่วคราวเช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเดินทางอย่างแท้จริงและยาวนานมากน้อยเพียงใด ในปัจจุบันมาตรการในการใช้จักรยานของกรุงบรัสเซลส์ให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ คือ เมื่อเปรียบเทียบทั้งปี 2020 และปี 2019 ปริมาณการใช้รถจักรยานที่วัดโดยตัวนับอัตโนมัติในกรุงบรัสเซลส์เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจร้อยละ 64 ในขณะที่ปริมาณการใช้รถยนต์ลดลงร้อยละ 20

การเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน พบว่ามีการใช้จักรยานและการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น และการใช้รถยนต์ลดลง และในขณะที่การขยายพื้นที่สำหรับคนเดินถนน และคนใช้จักรยานจะมีความขัดแย้งหรือแม้กระทั่งเกิดการฟ้องร้องขึ้น จากการสำรวจของสถาบันความปลอดภัยทางถนนของเบลเยียม (Belgian road safety institute VIAS) จัดทำขึ้นในเดือนธันวาคม พบว่าผู้เข้าร่วมร้อยละ 65 ประเมินว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และมีเพียงแค่ร้อยละ 17 ที่ประเมินแล้วให้ผลในเชิงลบ

บรัสเซลส์เป็นหนึ่งใน 309 เมืองในยุโรปที่ใช้จักรยานเป็นวิธีการป้องกันและฟื้นฟูเมืองจาก COVID-19 จากการติดตามของ European Cyclists’ Federation (ECF) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการจัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมเกือบ 1.2 พันล้านยูโร ทั่วทั้งยุโรป สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้จักรยาน และจากมาตรการทางจักรยานที่ประกาศไว้ 2,570 กม. ได้มีการดำเนินการไปแล้วร้อยละ 55

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การระบาดแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเดินทาง ข้อมูลเชิงลึกก่อนหน้านี้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่เมืองต่างๆ เช่น บรัสเซลส์จะสามารถสร้างสรรค์ระบบการสัญจรของตนขึ้นใหม่ได้ และขณะนี้กรณีของการลงทุนระยะยาวกับมาตรการชั่วคราวเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว เพราะได้มีจัดสรรงบประมาณ 458 ล้านยูโร สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของการใช้จักรยานในแผนฟื้นฟูแห่งชาติ (National Recovery and Resilience Plan) ของเบลเยียมแล้ว อนาคตของการใช้จักรยานในกรุงบรัสเซลส์จึงดูสดใสกว่าที่เคยแน่นอน

อย่างบ้านเราในตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่นกรุงเทพมหานคร ก็จะเห็นได้ว่ามีคนเริ่มใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในระยะสั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้จากจุดจอดจักรยานตามแนวรถไฟฟ้า ปากซอยหรือหน้าหมู่บ้านเป็นต้น สุดท้ายเราขอย้ำว่าแค่คุณเลือก เดินหรือปั่นจักรยาน สิ่งที่คุณจะได้คือ “สุขภาพดี ฟรี สะอาด ”

แหล่งข้อมูลและที่มา:

Aleksander Buczynski, March 18, 2021. One-Year Anniversary: Will the Pandemic Transform Brussels’ Mobility System for Good? สืบค้นจาก: https://ecf.com/news-and-events/news/one-year-anniversary-will-pandemic-transform-brussels%E2%80%99-mobility-system-good เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

Print Friendly, PDF & Email