Home ข้อมูลความรู้ บทความ จะสร้างชาติของผู้ใช้จักรยานได้อย่างไร

แปลและเรียบเรียงโดย : กวิน ชุติมา

เราทุกคนคงได้ยินได้ฟังได้เห็นข่าวภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝนที่ตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมแผ่นดินถล่ม หรือในทางตรงข้าม อากาศที่ร้อนสุดขีด นำมาซึ่งความแห้งแล้งและไฟป่าที่เผาผลาญทำลายพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี-เบลเยี่ยม-เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ แม้จะเป็นภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่ก็รุนแรงผิดจากที่เคยเป็นมา และเกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ไม่เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เชื่อจากหลักฐานที่บ่งชัดมากขึ้นทุกทีว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้น แม้แต่ผู้นำหลายประเทศ อย่างเช่น อังเกลา แมเคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็เห็นพ้องและยอมรับด้วยว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลยังทำไม่เพียงพอในการลด-หยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้อุณหภุมิของโลกสูงขึ้น นำไปสู่สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรง

ข้อเท็จจริงคือ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นมากที่สุดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะในเมืองนั้น เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (fossil fuel) ของเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้ขับเคลื่อนยานยนต์ต่างๆ ดังนั้นจึงต้องละเลิกการใช้เครื่องยนต์เหล่านี้ จนรัฐบาลบางประเทศและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บางรายตั้งเป้าหมายแล้วที่จะห้ามใช้และเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในปีนั้นปีนี้เร็วบ้างช้าบ้าง แต่ก็ยังอีกหลายปี ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากชี้ว่า สิ่งที่ทำได้ทันที ไม่ต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามากโดยเปรียบเทียบ คือการทำให้คนทั่วไปหันมาใช้จักรยานร่วมกับการเดินเป็นวิธีการเดินทาง อย่างน้อยสำหรับระยะทางสั้นๆ ไม่เกิน 10 กิโลเมตร ซึ่งการศึกษาพบว่าเป็นระยะทางที่คนส่วนใหญ่ใช้เดินทางในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว พูดอีกอย่างคือ ทำให้ประเทศเปลี่ยนไปเป็นชาติของผู้ใช้จักรยาน คำถามใหญ่คือจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร ซึ่งพวกเขาก็บอกว่าตัวอย่างก็มีอยู่แล้ว นั่นคือเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ได้สมญานามว่า “ชาติของผู้ใช้จักรยาน”

แน่นอนว่า เมื่อจะทำกันจริงๆ แต่ละประเทศก็มีสภาพเงื่อนไขแตกต่างกันไป มีสิ่งท้าทาย อุปสรรค ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำจึงเป็นไปการไปเรียนรู้บทเรียนประสบการณ์ของเนเธอร์แลนด์ว่าเขาทำอย่างไร แล้วเอามาประยุกต์ใช้ในประเทศตน บรรษัทกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี จึงส่งแอนนา ฮอลลิแกน ผู้สื่อข่าวบีบีซีในเนเธอร์แลนด์ ออกไปขี่จักรยานสำรวจร่วมกับคริส บรันเล็ต จากสถานทูตการใช้จักรยานดัทช์ (Dutch Cycling Embassy) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเอาบทเรียนประสบการณ์ของเนเธอร์แลนด์ออกไปสื่อสารเผยแพร่แบ่งปันให้เมืองและประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่คิดจะทำให้การใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป และผลิตออกมาเป็นวิดิทัศน์ยาว 2 นาที 44 วินาที ที่ดูได้เต็มๆ ที่ https://www.bbc.com/news/av/world-europe-57944428
โดยสรุป เนเธอร์แลนด์มีกลเม็ด 4 ประการดังนี้

(1) ทำให้ขี่จักรยานนอกบ้านได้อย่าง “สบาย” เราเลือกใช้วิธีใดในการเดินทางส่วนหนึ่งก็เพราะมัน “สบาย” ดังนั้นถ้าจะให้คนหันมาใช้จักรยานก็ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าสบายที่จะใช้ มากกว่าหรืออย่างน้อยก็เช่นเดียวกับ การใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ การออกไปขี่จักรยานต้องไม่ใช่ “เรื่องใหญ่” ที่ต้องใช้ความพยายามเพิ่มอย่างมาก ตามมาตรฐานของคนดัทช์หรือชาวเนเธอร์แลนด์ คุณต้องสามารถขี่จักรยานเคียงคู่กัน คุยกันไปได้สบายๆ ต้องทำให้มีสภาพเช่นนี้เท่านั้น คุณถึงจะทำให้มวลมหาประชาชนออกมาขี่จักรยานกันได้ เขาเอาคนสองวัยที่ดูเหมือนว่าจะอ่อนเปราะ มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะออกมาขี่จักรยานนอกบริเวณบ้าน คือเด็ก 8 ขวบและคนสูงอายุวัย 80 มาเป็นเกณฑ์ จะให้ประชาชนทั่วไปสบายใจในการใช้จักรยานก็ต้องทำให้คนสองกลุ่มนี้ออกไปขี่จักรยานได้สบายๆ

(2) มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างรอบด้าน ความสบายในการออกมาขี่จักรยานในที่สาธารณะ ที่สำคัญเกิดจากการมีทางให้ขี่จักรยานได้สะดวก ไร้อุปสรรคหรือมีน้อย และปลอดภัย การมีทางสำหรับการขี่จักรยานเป็นการเฉพาะ ดีที่สุดคือแยกจากยานพาหนะอื่นบนถนนอย่างชัดเจน จึงสำคัญมาก นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำกันในหลายประเทศ แต่ที่เนเธอร์แลนด์ทำให้อย่างโดดเด่นคือการทำให้ทางจักรยาน จุดเชื่อมต่อ และทางแยกของทางเหล่านี้ แยกออกมาจากทางที่ยานพาหนะอื่นใช้เสมอเมื่อทำได้ เพื่อปกป้องให้คนใช้จักรยานปลอดภัยตลอดทางที่ออกมาขี่จักรยาน และเมื่อสภาพจำกัด บีบบังคับผู้ใช้ถนนประเภทต่างๆ กับผู้ใช้จักรยานต้องใช้ทางร่วมกันในบางจุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น ถนนแคบในย่านเมืองเก่า หรือจุดตัดระหว่างทางจักรยานกับทางรถยนต์ โครงสร้างที่ทำขึ้นมาและกฎระเบียบในการใช้โครงสร้างเหล่านี้จะกำหนดให้จักรยานจะเป็นผู้ได้ใช้ทางก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ หรือใช้ร่วมกันอย่างที่สร้างความปลอดภัยให้คนใช้จักรยาน เช่น จำกัดความเร็วไว้ที่เพียง 10-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยกฎการใช้ถนนหรือสภาพของถนน นี่เป็นสภาพที่เนเธอร์แลนด์สร้างให้เกิดขึ้นบนถนนของพวกเขา และที่เนเธอร์แลนด์ให้ความสนใจมากกว่าประเทศอื่นจนเป็นจุดเด่นที่แม้แต่นักท่องเที่ยวก็ไปดูคือที่จอดจักรยาน เขาเน้นว่าการมีที่จอดจักรยานเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมาก หากคุณจะทำให้มี “พื้นที่” ในการใช้จักรยาน คุณก็ต้องมีไม่เพียงแต่ทางให้ขี่จักรยาน แต่ต้องมีที่ให้ผู้ใช้จักรยานจอดจักรยานของพวกเขาเก็บไว้ได้อย่างสะดวก สบาย และปลอดภัยเช่นเดียวกันด้วย

(3) ได้เรียนรู้การใช้จักรยานตั้งแต่แรกและโดยตลอด มีการให้การศึกษาอย่างเป็นระบบ การขี่จักรยานให้ได้ดีถูกต้อง ปลอดภัย ต้องเรียนรู้ ในเนเธอร์แลนด์ มีการสอน การหัด การฝึก ให้ทุกคนใช้จักรยานเป็นอย่างคล่องแคล่วปลอดภัยตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าเริ่มที่บ้าน แต่มีการสอนอย่างเป็นระบบที่โรงเรียนทุกระดับให้เด็กทุกคน และกระตุ้นให้ใช้ให้สั่งสมทักษะประสบการณ์อยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อคุณไปไหนมาไหนด้วยจักรยานมาทั้งชีวิต เป็นวิธีที่สองในการไปไหนมาไหนต่อจากการเดิน มันก็เกือบจะกลายเป็นสิ่งที่คุณทำได้เป็นธรรมชาติเหมือนกับการเดิน และก็ยังหมายความด้วยว่า คนที่แม้จะใช้รถยนต์ในการเดินทางก็เติบโตขึ้นมากับการใช้จักรยาน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงตระหนักและรู้ดีว่าคนที่ใช้จักรยานจะเคลื่อนที่ไปทางไหน อย่างไร ทำให้ระมัดระวังได้ดีขึ้นเมื่อใช้ถนนร่วมกัน

(4) มีหลักประกัน ในเนเธอร์แลนด์นั้น กรมธรรม์ประกันภัยจะเขียนไว้เลยว่า เมื่อมีการชนกันเกิดขึ้นระหว่างรถกับจักรยาน จะถือไว้ก่อนเสมอเลยว่าคนขับรถยนต์เป็นผู้ผิด เป็นหน้าที่ของคนขับรถที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองนั้นไม่ได้ทำผิด ไม่เช่นนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อการชนที่เกิดขึ้น รวมทั้งในด้านการเงิน หลักประกันนี้ได้ผูกพันกลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ขับรถใส่ใจระมัดระวังคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ทำไปทั้งหมดนี้ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมการใช้จักรยาน ซึ่งหมายความว่า คนทั่วไปไม่ต้องพะวักพะวงคิดหน้าคิดหลังก่อนจะคว้าจักรยานออกมาใช้ เพราะเมื่อพิจารณาดูง่ายๆ แล้ว การใช้จักรยานเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดและสบายที่สุดในการไปไหนมาไหน (อย่างน้อยในระยะทางสั้นๆ ดังกล่าว) คำถามคือ มันจะทำได้หรือในทางปฏิบัติจริงๆ ที่ทุกประเทศจะทำให้ใช้จักรยานได้ดั่งเนเธอร์แลนด์ คำตอบที่เป็นข่าวดีก็คือ ใช่ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องลอกแบบเอาไปทำ เพียงแต่เอาแรงดลใจกับแนวการปฏิบัติที่ดีที่ชาวดัทช์ได้พัฒนาขึ้นมาไปใช้ เนเธอร์แลนด์ได้เปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่มีการใช้รถยนต์เป็นใหญ่มาเป็นประเทศที่การใช้จักรยานเป็นใหญ่ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี แต่ก็เป็นการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม จริงจัง เข้มข้น ต่อเนื่อง มีพัฒนาการตลอด ของทุกภาคส่วน และมีการแข่งขันกันเองระหว่างเมืองต่างๆด้วย

นี่เป็นสาส์นที่สถานทูตการใช้จักรยานดัทช์พยายามเอาไปบอกเมืองต่างๆ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกในขณะนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นชาติของผู้ใช้จักรยานนั้นเป็นไปได้ สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีคือความมุ่งมั่นทุ่มเททำอย่างไม่ลดละอย่างยาวนานไปทำให้เกิดขึ้น

Print Friendly, PDF & Email