Home ข้อมูลความรู้ บทความ ประเมินความคุ้มค่าทางสังคมของทางเดินลอยฟ้า ผลวิจัยชัดว่าคุ้มกว่าที่คิด!

ประเมินความคุ้มค่าทางสังคมของทางเดินลอยฟ้า ผลวิจัยชัดว่าคุ้มกว่าที่คิด!

ประเมินความคุ้มค่าทางสังคมของทางเดินลอยฟ้า ผลวิจัยชัดว่าคุ้มกว่าที่คิด!


งานวิจัย “ความคุ้มค่าทางสังคมของการลงทุนสร้างทางเดินลอยฟ้าในกรุงเทพมหานคร” ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย) เผยผลสรุปการประเมินผลตอบแทนและต้นทุนของการใช้ทางเดินลอยฟ้าในแบบที่เราอาจจะนึกไม่ถึง นั่นคือทางเดินลอยฟ้าในบริเวณสยามสแควร์คืนทุนในปีที่ 3 ที่เปิดให้บริการ ส่วนทางเดินลอยฟ้ารามาธิบดีคืนทุนในปีที่ 2 และทางเดินลอยฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคืนทุนในปีแรกเลย

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของ ผศ.ดร. รำจวน เบญจศิริ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย โดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย) ได้ศึกษาผลตอบแทนและต้นทุนทางสังคมของทางเดินลอยฟ้าเส้นในกรุงเทพฯ ที่คนใช้งานกันมากใน 3 เส้นทาง คือ (1) ทางเดินลอยฟ้าย่านสยามสแควร์-ราชประสงค์ (2) ทางเดินลอยฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (3) ทางเดินลอยฟ้าหน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี

การศึกษาความคุ้มค่าทางสังคมนี้จะทำให้เห็นถึงประโยชน์และต้นทุนที่มองเห็นและไม่เห็น เพื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์กับต้นทุนรวมที่แท้จริงของทางเดินลอยฟ้า ว่าสิ่งใดมากกว่ากันและมากกว่ากันเท่าไร ซึ่งผลการศึกษานั้นน่าสนใจมาก คือพบว่าทางเดินลอยฟ้าบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีความคุ้มค่าทางสังคมมากที่สุด สังคมได้รับประโยชน์สูงมีมูลค่าสูงประมาณ 1,727.5 ล้านบาท โดยมีผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน 12.8 และคืนทุนในปีแรกของการให้บริการ

รองลงมาเป็นทางเดินลอยฟ้าในโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าสังคมได้รับประโยชน์สูงมีมูลค่าสูงประมาณ 815.4 ล้านบาท โดยมีผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน 7.98 และคืนทุนในปีที่ 2 ของการให้บริการ

ส่วนทางเดินลอยฟ้าในบริเวณสยามสแควร์ สังคมได้รับประโยชน์มีมูลค่าประมาณ 569.6 ล้านบาท โดยมีผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน 3.86 และคืนทุนในปีที่ 3 ของการให้บริการ

(หมายเหตุ: ค่าของผลประโยชน์ทางสังคมเทียบกับต้นทุนทางสังคมขั้นต่ำสุดเท่ากับ 1)

งานวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่ารัฐควรกำหนดเป็นนโยบายให้มีการสร้างทางเดินลอยฟ้าในพื้นที่จำเป็นและเหมาะสมอย่างเช่น 3 จุดที่ใช้เป็นกรณีศึกษา และผลการศึกษายังพบว่าการสร้างทางเดินลอยฟ้าแบบมาตรฐานในพื้นที่เช่นนี้ทำให้สวัสดิการทางสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นมาก ลดการเกิดอุบัติเหตุจากพาหนะบนถนน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนเดินซึ่งดีต่อสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเมื่อคนเปลี่ยนมาใช้ทางเดินลอยฟ้ามากขึ้น ก็จะทำให้ใช้รถยนต์น้อยลง การจราจรติดขัดน้อยลง ลดการใช้น้ำมันและลดมลพิษทางอากาศ

ในกรณีการใช้ทางเดินลอยฟ้าเพื่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น และผู้ให้บริการผู้ป่วยหรือแพทย์สามารถทำงานได้เร็วขึ้น ลดการสูญเสียซึ่งเป็นคุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย

การศึกษานี้เป็นการพิจารณาเฉพาะผลประโยชน์และต้นทุนที่สังคมได้รับเท่านั้น ไม่ได้นำต้นทุนและผลประโยขน์ทางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม บริษัท และห้างร้านต่างๆ ที่จะได้ประโยชน์จากทางเดินลอยฟ้ามาคำนวณด้วย ดังนั้นในความเป็นจริงผลตอบแทนของทางเดินลอยฟ้าจะมีมูลค่าสูงกว่าที่สรุปไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้

Print Friendly, PDF & Email