Home ข้อมูลความรู้ บทความ ผู้นำและชุมชนเห็นภาพฝันเดียวกัน : ปัจจัยความสำเร็จสู่ชุมชนจักรยานในโรงเรียน

เรียบเรียงจากหนังสือ “ประเทศไทยสร้างเมืองจักรยานได้ ฉบับครูและผู้ปฏิบัติการในโรงเรียน” จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเพจประชาสัมพันธ์โรงเรียนบ้านป่าแซง


โรงเรียนเป็นอีกพื้นที่สำคัญของการทำงานสร้างชุมชนจักรยาน เพราะเป็นพื้นที่ของการปลูกฝังให้เด็กคุ้นเคยกับการใช้จักรยานเป็นพาหนะได้ตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งกุญแจที่จะไขประตูความสำเร็จของเรื่องนี้ก็คือ ผู้บริหารโรงเรียนและชุมชนจะต้องมีภาพฝันร่วมกัน เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นภาพเดียวกัน

สร้างความเข้าใจแก่ผู้นำ

การทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมองเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อน จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยให้เชื่อมโยงการใช้จักรยานเข้ากับหลักการสำคัญของโรงเรียน คือการพัฒนาเด็กให้มีความสุขในการมาโรงเรียน แนวทางการโน้มน้าวเพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าใจความสำคัญ ควรเน้นให้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในทุกมิติ ยกตัวอย่างเช่น

• ส่งผลดีต่อเด็กนักเรียน: การสร้างชุมชนการเดินหรือจักรยานมีความสำคัญต่อการเรียนรู้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียน คือจะมีสุขภาพดีพร้อมต่อการเรียนรู้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

• เชื่อมโยงให้เห็นผลดีที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม: เชื่อมโยงให้เห็นว่าชุมชนจักรยานเป็นการปลูกฝังวินัย ลดความเหลื่อมล้ำของเด็กที่มีฐานะต่างกัน มีผลดีในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสุขภาพ จิตใจ สังคมความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นการปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีแก่เด็ก

• ไม่เป็นภาระเพิ่มกับครูในโรงเรียน: ให้บูรณาการเรื่องการใช้จักรยานเข้ากับการเรียนรู้ในโรงเรียน ไม่สร้างภาระงานใหม่แก่ครูมากจนเกินไป หรือถ้าจำเป็นต้องมีภาระเพิ่มเติมก็ควรอธิบายให้เห็นว่าภาระนั้นคุ้มค่ามากเพียงใด

• เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเด็ก: การขับเคลื่อนเรื่องชุมชนจักรยานมีเป้าหมายเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนโดยตรง

นอกจากผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ยังควรสร้างความเข้าใจต่อคณะกรรมการของโรงเรียนให้มองเห็นประโยชน์ของการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดชุมชนการเดินหรือการใช้จักรยานในวิถีชีวิต ซึ่งคณะกรรมการของสถานศึกษาจะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ช่วยทำให้ชุมชน ครอบครัว และเด็กนักเรียนเห็นผลดี พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับนโยบายของโรงเรียน และทำให้เกิดชุมชนการเดินหรือจักรยานได้ในที่สุด

เชื่อมโยงวิสัยทัศน์โรงเรียนและจังหวัด

การเชื่อมโยงวิสัยทัศน์และผลักดันเรื่องชุมชนจักรยานให้เข้าสู่นโยบายของโรงเรียน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การขับเคลื่อนเกิดความยั่งยืน เพราะเมื่อเรื่องเข้าสู่นโยบายของโรงเรียนแล้วจะถือเป็นแผนปฏิบัติที่แม้ว่าผู้บริหารจะย้ายไปโรงเรียนอื่น การผลักดันให้ใช้จักรยานก็ยังคงอยู่ในแผนประจำปีของโรงเรียน

การเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ของจังหวัดก็เป็นเครื่องมืออีกชิ้นที่ช่วยให้การขับเคลื่อนชุมชนจักรยานในโรงเรียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น เนื่องจากวิสัยทัศน์ของจังหวัดเป็นร่มใหญ่ของการพัฒนาในแต่ละจังหวัด ซึ่งโรงเรียนต้องพัฒนานักเรียนภายใต้ทิศทางการพัฒนาของจังหวัด ดังนั้นการนำวิสัยทัศน์ของจังหวัดเข้ามาเชื่อมโยง จะช่วยให้โรงเรียนเห็นเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทำให้พร้อมจะขับเคลื่อนชุมชนจักรยานในโรงเรียนได้ง่ายขึ้น

บูรณาการทุกภาคส่วน

การเชื่อมโยงวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนนั้น ดำเนินการโดยโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จะต้องเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียน ชุมชน ผ่านคณะกรรมการสถานศึกษาหรือประสานงานร่วมกับชุมชนโดยตรง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และการเชื่อมประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยอาจเป็นการร่วมขับเคลื่อนระหว่างโรงเรียน ชุมชน หน่วยงานอื่นในพื้นที่ และนำเสนอเรื่องเข้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อสร้างการสนับสนุนการทำงานของโรงเรียน

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ “โรงเรียนบ้านป่าแซง” อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมระหว่างโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และนักเรียนในโรงเรียน ถึงกระบวนการในการขับเคลื่อน แล้วจึงนำเสนอแผนให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงทำให้เป็นไปได้จริง เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กนักเรียนเดินและใช้จักรยานในการมาโรงเรียน



Print Friendly, PDF & Email