Q&A 3 ข้อถามคนรักรถสองล้อ

เนื้อหาที่เพจเดินไปปั่นไปเสนอส่วนใหญ่เรามีเป้าหมายคือการขับเคลื่อนวิถีจักรยานให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคม เลยอยากออกไปหาเพื่อนคุย เรื่องที่คุยกันก็ยังอยู่กับพาหนะสองล้ออยู่ดี แต่ขอแบบสลบายๆตามประสาคนคอเดียวกัน

เลยโบกมือส่งสัญญาณให้พี่น้องนักปั่นช่วยชะลอจักรยาน แล้วขอสัมภาษณ์คนละ 3 คำถาม ความรู้สึกจากการพูดคุยคือสนุกดี แต่ก็มีมุมจริงจังที่สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และบอกเล่าถึงสิ่งที่คนปั่นจักรยานอยากได้รับการตอบสนองจากรัฐ เราจึงเรียบเรียงบทสนทนาเหล่านั้นออกมาแชร์กับแฟนเพจทุกคน ใครอ่านแล้วรู้สึกสนุก อยากมาตอบคำถาม 3 ข้อนี้ เชิญที่ช่องคอมเมนต์เลยครับ อยากฟังคำตอบของทุกคนนะครับ

คุณชัยยุทธ โล่ธุวาชัย
จังหวัด: กรุงเทพฯ / อาชีพ: พิธีกร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเจ้าของเพจ Bike in the City ปั่นรักษ์พิทักษ์เมือง / ใช้จักรยานมา 10 ปี

การใช้จักรยานเหมาะกับชีวิตในยุคนี้อย่างไร?

“ขึ้นอยู่กับเส้นทางของคนที่ใช้ ถ้าบางคนอยู่รังสิตคลอง 4 คลอง 5 แล้วต้องมาทำงานในเมือง เขาก็คงไม่ค่อยสะดวกนัก แต่ขี่ในกรุงเทพฯ นะส่วนใหญ่ก็ใช้ระยะทางไม่เกิน 20 กิโลฯ ไปกลับก็ 40 กิโลฯ เป็นระยะทำการของจักรยานอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ มักจะคิดว่ามันไกล

แล้วมันประหยัด คนอาจจะบอกว่าซื้อจักรยานคันตั้งหลายตังค์ ลงทุนหมื่นห้านี่ใช้ได้เป็นสิบปี เอาจริงๆ มันไม่แพงหรอก

ส่วนเรื่องเหงื่อ ผมโชคดีที่องค์กรที่ผมทำงานเขาสนับสนุน มีห้องอาบน้ำให้ หรือบางคนเขาก็ไม่อาบ แค่ใช้ผ้าเย็นเช็ดตัวก็ได้ เอาจริงๆ นะ ผมว่าทุกปัญหาที่คนบอกว่าทำให้ขี่จักรยานไม่ได้ มันไม่ใช่ปัญหาหรอก สำหรับคนจะขี่ อะไรก็ไม่ใช่ปัญหา”

เจออุปสรรคอะไรในการใช้จักรยานบ้าง?

“เส้นทางปกติที่ใช้ไปทำงานไม่ค่อยเป็นอุปสรรคแล้ว เพราะเรารู้แล้วว่ามีหลุมตรงไหน จะหลบยังไง แต่ถ้าวันไหนไปนอกพื้นที่ มันก็จะขี่ลำบากหน่อย นอกจากนั้นก็มีปัญหาจากรถยนต์บ้าง แต่เราก็มีวิธีการจัดการแบบของเรา ถ้าคนขี่เป็นจะมองหลังเป็นระยะ พอเห็นรถหลังมาเหมือนจะแซง เราก็บังก่อนเลย เราก็จะออกมากลางเลนนิดนึงเพื่อไม่ให้เขาแซง เขาก็ต้องตามหลังเรา แล้วเราขี่ก็ไม่ได้ช้านะ

อ๋อ…มีอุปสรรคสำคัญอีกอย่างนึงที่ผมยอมเลย คือเรื่องหมา (หัวเราะ) เดาอารมณ์ไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาจะยังไง

เมืองจักรยานในฝันของคุณเป็นอย่างไร?

“คือเมืองที่ถ้าผมมีลูก 3-4 ขวบ ผมขี่จักรยานไปกับลูกได้ ผมมีพ่ออายุ 70-80 ผมขี่จักรยานไปกับพ่อได้ ผมไปเนเธอร์แลนด์ เพื่อนผมอายุ 70 กว่าเขาพาขี่ เขาหลับตาขี่จักรยานข้ามถนนกันได้อ่ะ เพราะมันปลอดภัยมาก เด็กขี่ได้ ผู้ใหญ่ขี่ดี อยากขี่เมื่อไหร่ก็ขี่ได้ นั่นคือที่สุดแล้วครับ”

คุณเมษ์มรุต จินากุล
จังหวัด: กรุงเทพฯ / อาชีพ: วิศวกร / ใช้จักรยานมา 10 ปี

การใช้จักรยานเหมาะกับชีวิตในยุคนี้อย่างไร?

“ผมว่าถ้าเราใช้จักรยานเป็นพาหนะระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 กม. เป็นเรื่องที่ดีที่ทำได้ครับ และมีคนใช้แบบนี้เยอะมากเช่น แม่บ้าน ลุงยาม คนทั่วๆ ไป รวมถึงตัวผมเอง”

เจออุปสรรคอะไรในการใช้จักรยานบ้าง?

“สำหรับผมเองใช้จักรยานส่วนใหญ่ในซอย ถนนมันแคบ บางครั้งเจอแอ่งน้ำขังหลังฝนตก เราจำเป็นต้องหลีก มันก็มีช้าบ้าง แต่รถยนต์ที่ตามหลังมามักจะเบียดเรา อีกปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่สุดคือเราข้ามสี่แยกหรือข้ามถนนใหญ่ไม่ได้เลย เมื่อเจอกระแสจราจรแบบเมืองกรุง

อ้อ…อีกเรื่องคือที่จอดจักรยาน การยอมรับจักรยานในสังคมเมืองมีน้อยมาก จักรยานมักโดนให้จอดในที่ลับตา อย่างซอกตึก หลังตึก หรือแม้แต่รถพับจะเอาเข้าตึกยังโดนห้าม อย่างเช่นในห้าง รถเข็นห้างไปได้ทุกที่ แต่ถ้าเข็นจักรยานพับเข้าไปมักโดนห้าม”

เมืองจักรยานในฝันของคุณเป็นอย่างไร?

“สำหรับผมไม่เคยคาดหวังเรื่องเลนจักรยาน เพราะกรุงเทพฯ มีถนนจำกัด แคบ และมีค่านิยมการมีรถยนส่วนตัว รถยนต์มันจึงล้นกรุง มีทุกบ้าน ใช้ที่จอดออกมาบนถนน ที่สำคัญคือคนไทยขาดจิตสำนึกสาธารณะ แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ ร้านซ่อมรถยนต์ รถส่งของ ใช้ประโยชน์จากริมถนน ฟุตบาทกันทั้งนั้น แม้กระทั่งริมคลอง สะพานปูนแคบๆ มอเตอร์ไซค์ยังพาดไม้กระดานขึ้นไปวิ่งใช้เป็นทางลัด ดังนั้นเมืองจักรยานในฝันของผมคือ เมืองที่คนใช้ถนนมีจิตสำนึกสาธารณะ ถนนไม่ใช่ของรถยนต์อย่างเดียว มันเป็นถนนของรถทุกประเภท เราใช้ร่วมกันได้ รถอื่นๆ ควรมีน้ำใจให้จักรยานบ้างครับ”

คุณวันเฉลิม สุขมาก
จังหวัด: กรุงเทพฯ / อาชีพ: พนักงานส่งของด้วยจักรยาน / ใช้จักรยานมา 11 ปี

การใช้จักรยานเหมาะกับชีวิตในยุคนี้อย่างไร?

“มันเป็นเรื่องเวลาที่ใช้ในการเดินทาง คือขี่จักรยานมันกะเวลาได้ คือเรารู้ความเร็วที่เราใช้ อย่างเวลาจะเข้าไปในเมือง เรารู้ว่าระยะทาง 20 กิโลฯ เราใช้เวลาชั่วโมงนึง เราก็รู้ว่าถ้าออกเวลานี้ชั่วโมงนึงก็ถึงแน่นอน อาจจะเผื่อนิดหน่อย เผื่อเวลาล้างหน้าล้างตัว แค่นี้ก็จบแล้ว

แต่ถ้าเราไปรถขนส่งสาธารณะจากบ้าน ถึงแม้จะไปรถไฟฟ้าเร็วก็จริง แต่กว่าจะออกจากบ้านไปหน้าปากซอย แล้วกว่าจะไปถึงรถไฟฟ้า มันเสียเวลา หรือถ้าขับรถไปมันก็ไม่แน่นอน วันนี้อาจจะครึ่งชั่วโมง ไปคราวหน้าอาจจะมีรถชนบนทางด่วน ติดไป 2 ชั่วโมง แต่ถ้าขี่จักรยานเราแค่ปักเป้าหมายในแอพฯ ทีเดียว พอถึงไฟแดงก็จูงข้าม ไม่ต้องรอ รถติดก็ขึ้นฟุตบาท”

เจออุปสรรคอะไรในการใช้จักรยานบ้าง?

“อุปสรรคของผมคือเรื่องยางแตก เรื่องอื่นไม่มีปัญหาเพราะขี่จนเป็นเรื่องปกติแล้ว ยางแตกเพราะโดนเศษแก้ว จะแตกบ่อยช่วงศุกร์เสาร์อาทิตย์ที่คนเริ่มเมาเยอะๆ อาทิตย์นึงบางทีแตกตั้ง 3 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเศษแก้ว ถ้าเจอยางแตกก็ถอดยางแล้วปะ นอกจากมันไม่ไหวจริงๆ เพราะของที่ต้องเอาไปส่งมันหนัก ก็ใช้วิธีฝากจักรยานไว้กับคนแถวนั้น อย่าง รปภ. ของคอนโดบ้าง ฝากไว้กับร้านค้าบ้าง แล้วก็นั่งมอเตอร์ไซค์ไปส่งของก่อน”

เมืองจักรยานในฝันของคุณเป็นอย่างไร?

“มีถนนดีๆ มีไหล่ทางดีๆ แบบที่ไม่มีคูน้ำร่องวี ไม่มีฝาท่อแบบตะแกรงก็จบแล้วล่ะ ไม่ต้องไปหวังว่าต้องมีทางจักรยานโน่นนี่หรอก”

คุณชหัสชัย ลิมป์ศุภฤกษ์
จังหวัด: ภูเก็ต / อาชีพ: เจ้าของกิจการร้านกาแฟ Pop Espresso และช่างภาพอิสระ / ใช้จักรยานมา 6 ปี

การใช้จักรยานเหมาะกับชีวิตในยุคนี้อย่างไร?

“ในเมืองภูเก็ตหาที่จอดรถยาก เอารถออกไป กลับมาก็ไม่มีที่จอดแล้ว จักรยานช่วยตรงนี้ได้ ผมจะจอดใกล้ๆ วินมอเตอร์ไซค์ ใช้ตัวล็อคล้อกับเสา เขาก็ช่วยดูให้ด้วย แล้วยิ่งช่วงนี้น้ำมันราคาแพง จักรยานเหมาะกับการเดินทางใกล้ๆ ประหยัดค่าน้ำมันไปพอสมควรเลยครับ หรือแม้กระทั่งรถติด จักรยานก็ลัดเลาะไปได้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ผมใช้จักรยานออกไปซื้อของ ไปห้าง ไปตลาด แวะไปร้านกาแฟในเมือง”

เจออุปสรรคอะไรในการใช้จักรยานบ้าง?

“จริงๆ เจอไม่บ่อยนะครับ ที่เจอจะเป็นรถที่ออกมาแล้วไม่ค่อยเปิดไฟเลี้ยว ฝาท่อก็มีแบบที่ไม่เหมาะบ้าง เราก็เลี่ยงไปซะ รถก็ขับไม่เร็ว ถือว่าใช้จักรยานที่ภูเก็ตไม่ยากลำบากอะไรครับ”

เมืองจักรยานในฝันของคุณเป็นอย่างไร?

“มีเลนจักรยาน มีที่จอดจักรยาน ปั่นได้ง่าย อยากเห็นคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเยอะขึ้น คือผมว่าจักรยานมันมีเสน่ห์ ยิ่งอยู่ในเมืองภูเก็ตด้วยแล้วมันปั่นได้เรื่อยๆ ปั่นชมเมือง ปั่นไปกินกาแฟ ปั่นไปกินอาหารร้านใกล้ๆ”

นพ.ไผท สิงห์คำ
จังหวัด: นนทบุรี / อาชีพ: แพทย์ด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค / ใช้จักรยานมา 5 ปี

การใช้จักรยานเหมาะกับชีวิตในยุคนี้อย่างไร?

“ผมคิดว่าการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมีบางจุดที่เหมาะ แต่บางจุดก็ไม่เหมาะ จุดที่เหมาะคือคนที่มีที่ทำงานกับบ้านไม่ไกลกันมาก ผมเป็นคนไม่ทำกับข้าว ไม่ค่อยชอบซื้อของเยอะ ผมก็ใช้โอกาสช่วงเดินทางมองข้างทางทั้งไปและกลับเพื่อจอดซื้อข้าว ซื้ออาหาร ซื้อของได้ อยากจอดตรงไหนก็จอดได้ อย่างถ้าเป็นร้านอาหารข้างทาง ผมก็จอดข้างโต๊ะได้เลย

อีกอย่างที่เหมาะกับการใช้จักรยานคือชีวิตคนทำงานในออฟฟิศใหญ่ๆ คือมันหาที่จอดรถลำบาก บางทีใช้เวลาหาที่จอดรถ 10-20 นาที จะมาจอดรถบนถนนก็กังวลอีกว่าจะโดนเฉี่ยวโดนชน แต่พอเป็นจักรยานผมก็เอาไปจอดในซองรวมกับมอเตอร์ไซค์ได้ พิงกับเสาก็ได้ ผมรู้สึกว่าถ้าเอาเวลาตรงนี้มารวมๆ กันตลอดที่ผมใช้จักรยานจริงจังมา 4-5 ปีนี่ ผมว่ามันรวมกันออกมาได้หลายวันเลยนะ”

เจออุปสรรคอะไรในการใช้จักรยานบ้าง?

“คือเรื่องถนนที่มันแทบไม่มีไหล่ทางให้เราปั่น และถ้าเราปั่นที่ไหล่ทางสิ่งที่จะต้องเจอ คือรถจอด ผมว่ารถที่จอดบนไหล่ทางเขาได้อภิสิทธิ์มากเลยนะ ขณะเดียวกันถ้ามอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือรถเข็นขายของมาใช้ไหล่ทางบ้าง มันกลายเป็นภาระของถนน ผมคิดว่ามันไม่แฟร์เท่าไหร่ (หัวเราะ) ผมจึงต้องมาปั่นกลางถนนซึ่งมันค่อนข้างอันตราย

อีกเรื่องคือเรื่องมอเตอร์ไซค์ย้อนศร ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาเชิงระบบ เขาผิดอยู่แล้วล่ะที่ย้อนศร แต่ถนนบ้านเราคงไม่เอื้อต่อมอเตอร์ไซค์ เขาก็คงไม่อยากไปกลับรถไกลๆ หรือไม่อยากไปกลับรถตัดถนน 4-5 เลน อันนี้ก็เป็นหลายๆ มุมนะครับ ผมก็แก้ปัญหาด้วยการโบกให้เขาออกกลางถนนไปแทน คือเรามองรถหลังลำบาก แต่เขาย้อนศรมา เขาจะมองรถด้านหลังผมเห็น เพราะฉะนั้นเขาควรจะรับความเสี่ยงไป (หัวเราะ) เป็นปัญหาที่ผมว่ามันเรื้อรังแล้วแหละ เพราะคนไม่รู้สึกผิดกันแล้ว

อีกเรื่องนึงคือเรื่องฝาท่อที่วางไปทางเดียวกับแนวล้อ ผมว่าอันนี้ควรเอามาคุย มันเป็นเรื่องที่ปรับง่าย มันไม่ใช่เฉพาะจักรยาน มันอันตรายกับมอเตอร์ไซค์ด้วย เรื่องนี้แค่เปลี่ยนแนวฝาท่อมันก็จบแล้ว”

เมืองจักรยานในฝันของคุณเป็นอย่างไร?

“ฝันแบบสูงสุดคือแบบเนเธอร์แลนด์เลย คือทางจักรยานของเขามันเป็นทางจักรยานจริงๆ ไม่ใช่เอาทางจักรยานไปเบียดเบียนกับรถยนต์อย่างที่เราคิดง่ายๆ คือทางจักรยานในเนเธอร์แลนด์น่ะมันตัดเลาะซอกซอย เป็นทางจักรยานอย่างเดียวเลย ถ้าเป็นทางที่ต้องใช้กับรถยนต์ ก็ต้องควบคุมความเร็วของรถยนต์ได้ ผมว่ามันอยู่ด้วยกันได้ ผมเคยใช้วิธีเดินทางแบบนี้ในกรุงเทพฯ ด้วยการเสิร์ชด้วยทางคนเดิน มันก็พอไปได้นะ คือถ้ากรุงเทพฯ จะทำรูธ (Route) จักรยานแบบนี้ก็พอไหวนะ

อีกแบบที่พอจะเป็นไปได้ คือหาพื้นที่บนฟุตบาทแล้วก็วางทางจักรยานคู่ไป อย่างทางจักรยานเส้นลาดพร้าวนี่เซอร์ไพรส์ผมมากเลยนะ ผมเลยเห็นว่าไลฟ์สไตล์คนลาดพร้าวใช้จักรยานเว้ย เขาทำยาวไปถึงเกือบเลียบทางด่วน อาจจะมีมอเตอร์ไซค์มาใช้บ้าง แต่ผมว่าเดี๋ยวกลไกทางสังคมก็จัดการ แบบนี้ผมว่าพอเป็นไปได้ ลงทุนต่ำ ฟุตบาทอีกหลายแห่งมีศักยภาพที่จะทำแบบนี้ ผมว่าน่าจะลองทำนะ”

Print Friendly, PDF & Email