Home ข้อมูลความรู้ บทความ เริ่มองค์กรวิถีจักรยาน งานไม่ยากอย่างที่คิด!

เรียบเรียงจากหนังสือ “ประเทศไทยสร้างเมืองจักรยานได้ ฉบับผู้บริหารองค์กร สำนักงาน” จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

คงจะมีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหรือพนักงานบางบริษัท อยากจะพัฒนาให้องค์กรของตนเองเป็นองค์กรแห่งจักรยาน ซึ่งมีระบบต่างๆ เอื้อต่อการใช้จักรยาน จะได้ชวนเพื่อนร่วมงานให้หันมาเป็น “คนปั่น” กันมากขึ้น ก็ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น อยากกระซิบบอกเลยว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด! มีขั้นตอนใหญ่ๆ เพียง 2 ขั้นเท่านั้นเอง คือ (1) จัดตั้งคณะทำงาน (2) ทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

(1) การจัดตั้งคณะทำงาน
การจัดตั้งคณะทำงานผลักดันให้เกิดองค์กรจักรยานนั้น ควรกำหนดโครงสร้างให้ล้อไปกับโครงสร้างขององค์กร นั่นคือ
• ผู้นำองค์กรเป็นประธานคณะทำงาน : เพื่อให้ผู้นำองค์กรได้รับทราบเป้าหมาย และเห็นความสำคัญในการผลักดัน รับรู้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวการดำเนินการหรือจัดกิจกรรม ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน พร้อมทั้งเปิดทางสนับสนุนให้เป็นนโยบายขององค์กรในการขับเคลื่อนวิถีจักรยานในองค์กร

• การคัดเลือกผู้เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน : คัดเลือกคนที่มีใจรักจักรยานเป็นทุนเดิม และมีใจอยากผลักดันให้เกิดวิถีจักรยานในองค์กร เพื่อให้เป็นต้นแบบของการใช้จักรยานในวิถีชีวิตที่คนอื่นมองเห็น อยากทำตาม และเชื่อมั่นว่าทำได้จริง

• องค์ประกอบของคณะทำงาน : หากได้ตัวแทนจากทุกหน่วยงานในองค์กรก็จะทำให้การ ขับเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทั้งองค์กร แต่เนื่องจากการขับเคลื่อนต้องใช้พลัง และเป็นภารกิจนอกเหนือจากหน้าที่งานประจำ ดังนั้นถ้าได้คนที่สนใจอยากทำเรื่องนี้จริงๆ การผลักดันก็จะมีประสิทธิภาพ มากกว่าใช้ตำแหน่งในองค์กรเป็นตัวกำหนดให้เข้าร่วมคณะทำงาน

(2) การทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เมื่อจัดตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมาก็เริ่มทำความเข้าใจถึงเป้าหมาย ทิศทางการขับเคลื่อนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กร ทั้งแกนนำหลักผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ทั้งกลุ่มคนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในแต่ละฝ่าย แต่ละแผนก รวมถึงกลุ่มผู้รับผลปลายทาง เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล

การทำความเข้าใจนี้จึงต้องทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น เห็นว่าการขับเคลื่อนเพื่อสร้างวิถีจักรยานนั้นเกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กร ในแง่ของการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางของพนักงาน และมองเห็นประโยชน์ต่อตนเอง เช่น มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ในขณะเดียวกันผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นๆ เช่น ผู้เช่าพื้นที่ในองค์กรหรือผู้มาใช้บริการจะต้องเห็นว่าการสร้างวิถีจักรยาน รวมถึงการให้บริการจักรยานที่เกิดขึ้นนั้น จะสร้างประโยชน์ให้กับตนเองได้อย่างไรบ้าง อย่างเช่น ผู้ป่วยหันมาใช้จักรยานแล้วมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น หรือผู้เช่าอาคารได้รับความสะดวกมากขึ้นในกรณีต้องเดินทางไปทำธุระในระยะทางสั้นๆ

บอกแล้วว่างานนี้ไม่ยากอย่างที่คิด มาเริ่มสร้างวิถีจักรยานให้ในองค์กรของเรากันครับ!

Print Friendly, PDF & Email