Home ข้อมูลความรู้ บทความ ชวนปั่นเนิบเนิบที่น่านนานนาน


กำลังหาข้อมูลเพื่อแนะนำเส้นทางปั่นในจังหวัดหนึ่ง แต่ข่าวมวลน้ำมหาศาลที่มาท่วมพื้นที่ตามฤดูกาลทำให้ต้องตัดใจเลือกเส้นทางใหม่ ไม่ว่าอย่างไรเพจ “เดินไปปั่นไป” ก็ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเจออุทกภัยให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างปลอดภัยทุกท่านนะครับ

เส้นทางปั่นที่อยากแนะนำในครั้งนี้จึงเป็นจังหวัดที่ในขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขอชวนทุกท่านไปเมืองน่านครับ เข้าใจดีว่าในเพจนี้เป็นพื้นที่ของ “คนปั่น” หลายท่านจึงน่าจะเคยไปเยี่ยมเยียนกันมาแล้ว แต่ครั้งนี้เราจะเสนอเส้นทางปั่นที่เป็นการแนะนำให้รู้จักเมืองน่านในด้านต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ผู้คน ศิลปะ และวัฒนธรรมของคนน่าน ทริปนี้ไม่เน้นระยะทางหรือความเร็ว เพราะแต่ละแห่งต้องใช้เวลาซึมซับเรื่องราวและความรู้สึก น่าจะสนุกไปอีกแบบครับ

มาครับ…มาปั่นเนิบเนิบที่น่านกันนานนาน ถ้าพร้อมแล้วก็สวมหมวก เข็นจักรยานกันออกมาเลยครับ!

เส้นทางปั่น

1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ขอเริ่มกันที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน” มาทำความรู้จักเมืองน่านกันอย่างเป็นทางการด้วยพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัด ตั้งอยู่บนถนนผากองในอำเภอเมือง ด้านหน้ามีซุ้มต้นลีลาวดีแผ่กิ่งก้านร่มครึ้มเหมือนอุโมงค์ แลนด์มาร์คที่ควรพลาดมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
อาคารแบบยุโรปสีขาวที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นหลังนี้ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับใน พ.ศ. 2446 ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองน่านตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เล่าเรื่องเจ้าผู้ครองนคร ผู้คนเผ่าต่างๆ และศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่าน ไฮไลท์ของที่นี่คืองาช้างดำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองน่านมาหลายชั่วอายุคน หากได้ฟังภัณฑารักษ์เล่าถึงตำนานของงากิ่งนี้จะยิ่งรู้สึกตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นครับ

2 วัดภูมินทร์
ออกจากพิพิธภัณฑ์มา ปั่นผ่านสี่แยกวัดพระธาตุช้างค้ำจะเจอวัดภูมินทร์อยู่ด้านขวา วัดแห่งนี้สร้างใน พ.ศ. 2139 ความโดดเด่นอยู่ที่พระอุโบสถทรงจตุรมุขที่เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธานในอาคารเดียวกัน อยากให้ลองดูพญานาคที่บันไดพระอุโบสถ ดูราวกับมีพญานาคทั้งคู่มีชีวิตจริงๆ ไม่เคยเห็นท้องของพญานาคที่วัดไหนหย่อนคล้อยเหมือนลำตัวของงูแบบนี้มาก่อน
จะพลาดไม่ได้เลยกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ เราจะได้เห็นทั้งตำนานพื้นบ้านและความเป็นอยู่ของชาวนานในอดีต และเห็นถึงฝีแปรงของสล่าน่านที่ฝากฝีมือไว้ ภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” หรือภาพหญิงชายชาวไทลื้อกระซิบสนทนาอันโด่งดังก็อยู่ในพระอุโบสถแห่งนี้

3 ตึกรังสีเกษม
ออกมาจากวัดภูมินทร์ปั่นออกมาบนถนนผากอง ผ่านเรือนจำจังหวัดน่าน จนมาถึงสี่แยกที่ตัดกับถนนสายท่าลี่ เลี้ยวซ้ายปั่นต่อไปบนถนนสายท่าลี่ ปั่นเลียบแม่น้ำสักพักจะลอดสะพานมหาวงศ์ ปั่นต่อแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนคำยอด ถึงสามแยกก็เลี้ยวขวาไป ปั่นต่อเจอสามแยกอีกครั้งก็เลี้ยวเข้าถนนราษฎร์ประสงค์ ตรงไปสักพักจะเจอสามแยก เลี้ยวซ้ายไปบนถนนรังษีเกษม เลี้ยวเข้าไปโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา จะพบกับตึกสีม่วงเปลือกมังคุด อาคารหลังนี้แหละคือจุดหมายที่ 3 ของเรา

ตึกรังษีเกษมเป็นอาคารสไตล์โคโลเนียลยุคแรกของเมืองน่าน สร้างขึ้นช่วง พ.ศ. 2458 โดยคณะมิชชันนารีเพื่อเปิดเป็นโรงเรียนสอนหนังสือตะวันตกแห่งแรกของเมืองน่าน ต่อมาสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนรังษีเกษม และกลายเป็นชื่อตึกรังสีเกษมในปัจจุบัน

ปัจจุบันตึกรังษีเกษมเป็นอาคารหอประวัติศาสตร์ จัดแสดงโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้สมัยมิชชันนารี มีภาพถ่ายเมืองน่านในอดีตกว่า 1,000 ภาพ ภาพทั้งหมดนี้จะเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองน่านและคนน่านให้เราฟังแบบมีชีวิตชีวาชนิดที่หนังสือเล่มไหนก็ให้ไม่ได้

4 โฮงเจ้าฟองคำ
ออกจากโรงเรียนน่านคริสเตียนฯ เลี้ยวซ้ายจะเจอสามแยก ให้เลี้ยวขวาปั่นไปบนถนนสุมนเทวราช ปั่นยาวๆ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุมนเทวราช 2 ตรงไปนิดนึงจะเจอเรือนไม้สีเข้มอยู่ด้านซ้าย แสดงว่าเราถึงโฮงเจ้าฟองคำแล้ว
โฮงเจ้าฟองคำเป็นบ้านเก่าแก่มีอายุกว่า 200 ปี เจ้าของดั้งเดิมนามว่า “เจ้าฟองคำ” มีเชื้อสายของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 62 คำว่า “โฮง” แปลว่าที่อยู่อาศัยของเจ้านาย สร้างจากไม้สักรูปแบบล้านนา ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ประกอบด้วยเรือน 4 หลัง ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตในอดีตและของโบราณที่มีคุณค่า
ส่วนใต้ถุนมีสาธิตการปั่นฝ้าย ทอผ้า เล่นพิณ และมีช่างพื้นบ้านที่พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองลายต่าง เด่นที่สุดคือ “ลายน้ำไหล” อันเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าไทลื้อ เชื่อว่าหญิงสาวที่นิยมผ้าไทยน่าจะได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง
สำหรับคนรักเครื่องเงิน ใกล้กับโฮงเจ้าฟองคำมีบ้านของพ่อบุญช่วย หิรัญวิทย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์) ที่เป็นยอดฝีมือด้านเครื่องเงิน ถ้าไม่รีบลองปั่นไปดูงานสล่าน่านแท้ๆ เถอะครับ รับรองว่าคุ้ม!!

5 พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้และแหล่งเรียนรู้ชุมชน วัดน้ำล้อม
ปั่นออกมาจากโฮงเจ้าฟองคำ ย้อนกลับมาบนถนนสุมนเทวราช ตรงไปเรื่อยๆ เมื่อเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวาเข้าถนนวรนคร เราจะผ่านโรงพยาบาลน่านและค่ายสุริยพงษ์ เจอสามแยกอย่าหวั่นไหว เลี้ยวซ้ายไปบนถนนวรนครต่อ อีกหน่อยนึงก็เจอวัดน้ำล้อม ให้ตรงไปที่ศาลาพิทักษ์ไทยเลยครับ

ชั้นบนของศาลาพิทักษ์ไทยเป็นพื้นที่จัดแสดงพระพุทธรูปไม้กว่า 200 องค์ พร้อมวัตถุเกี่ยวเนื่องศาสนาอื่น ๆ อาทิ คัมภีร์ใบลาน หีบพระธรรม ปราสาทจำลอง พระพุทธรูปไม้ในภาษาพื้นเมืองเรียกกันว่า “พระเจ้าไม้” ในอดีตชาวน่านทั้งชนชั้นปกครองและสามัญชนนิยมสร้างพระไม้หรือพระเจ้าไม้ เพื่อสืบทอดพระศาสนา

เป็นอันจบทริปครับ!!

ข้อมูลเพิ่มเติม
– ระยะทางประมาณ 5.8 km บอกแล้วว่าไม่ไกล เพราะอยากให้ใช้เวลาดื่มด่ำกับแต่ละที่นานๆ
– ศึกษาเวลาการเปิดให้บริการของแต่ละสถานที่ให้ดีเพื่อวางแผนการปั่นให้ทันเข้าชม
– Application แผนที่ในโทรศัพท์จะช่วยเราได้เยอะ เพราะส่วนใหญ่เป็นชุมชนหรือถนนเล็กๆ ปั่นไปอาจมีงงได้

Print Friendly, PDF & Email