เรียบเรียงจากหนังสือ “ประเทศไทยสร้างเมืองจักรยานได้ ฉบับผู้บริหารองค์กร สำนักงาน” จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Businesswoman using environment friendly transportation

การขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรวิถีจักรยานหรือองค์กรที่คนหันมาปั่นจักรยานในวิถีชีวิตประจำวันนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจในการใช้จักรยานอย่างปลอดภัย เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนตัดสินใจ ใช้จักรยาน อีกทั้งการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ก็จะช่วยจูงใจให้สมาชิกในองค์กรอยากเป็น “คนปั่น” กันมากขึ้น
การสร้างความเชื่อมั่นและระบบสนับสนุนที่สำคัญมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

ปรับพื้นที่เพื่อความปลอดภัย

อันดับแรกต้องปรับพื้นที่สัญจรในองค์กรเพื่อให้ใช้จักรยานร่วมได้ คือต้องควบคุมความเร็วของรถยนต์ อย่างเช่นการทำ Speed Bumper หรือที่เราเรียกกันว่า “ลูกระนาด” เพื่อลดความเร็วของรถยนต์ลง อีกทั้งปรับพื้นที่ทั้งสองข้างทางของถนนในองค์กรเพื่อไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง และหากปรับพื้นที่สัญจนให้ร่มรื่นขึ้นด้วยต้นไม้ ก็ยิ่งทำให้คนหันมาปั่นจักรยานและเดินเท้าภายในองค์กรมากขึ้นครับ

จัดเส้นทางจักรยานและที่จอดจักรยาน

อันดับต่อมาต้องจัดการเรื่องเส้นทางจักรยานให้ชัดเจน โดยกำหนดขอบเขตให้เห็นชัด พร้อมมีสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นทางจักรยาน ไม่จำเป็นต้องวางโครงสร้างทางจักรยานใหม่ แต่ใช้ร่วมกับถนนเดิมได้ แค่เพิ่มป้ายสัญลักษณ์เตือนคนขับรถที่ใช้ถนนร่วมกับจักรยาน เช่น โรงพยาบาลนาทวีมีสถานีจอดจักรยาน 4 สถานี มีการวาดรูปจักรยานบนถนนภายในโรงพยาบาล เพื่อสื่อสารให้รู้ว่าเป็นเส้นทางการใช้จักรยาน มีป้ายลดความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีป้ายสัญลักษณ์เขตชุมชนจักรยานด้วย

สนับสนุนให้เข้าถึงจักรยาน

เพื่อให้ใช้จักรยานได้สะดวกยิ่งขึ้น บทเรียนของชุมชนโคกเพชร จ.ศรีสะเกษ มองเห็นว่ากองทุนเพื่อช่วยเหลือให้คนที่อยากปั่นได้มีจักรยานปั่นเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้จัดทำกองทุนสวัสดิการผ่อนจักรยาน โดยทำเป็นกองทุนออมวันละ1 บาท เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่ทำเพื่อกลุ่มที่มีรายได้น้อย เช่น ผู้สูงอายุอยากมีจักรยานปั่นแต่ไม่มีเงินซื้อจักรยานเป็นเงินสด ถือเป็นช่องทางหนึ่งทำให้ทุกคนที่อยากปั่นได้ปั่น
สำหรับในองค์กรเอกชนหรือองค์กรธุรกิจก็สร้างระบบการสนับสนุนแบบนี้ได้ เช่น การมีบริการให้ยืมจักรยาน ดังเช่นโครงการแบ่งปันจักรยานกันใช้ที่มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้ดำเนินโครงการร่วมกับบริษัท รัจนาการ จำกัด ในการให้บริการยืมจักรยานไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมุ่งหวังให้เกิดการใช้จักรยานในการสัญจรไปดำเนินธุรกรรมรอบบริเวณอาคาร ในระยะไม่เกิน 1-2 กิโลเมตร
ซึ่งดำเนินงานโดยการสำรวจข้อมูลความต้องการของคนในองค์กรและมองเห็นถึงความต้องการ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยจึงได้ทดลองทำโครงการ โดยจัดหาจักรยานจำนวน 5 คันมาให้บริการกับพนักงานหรือผู้เช่าอาคารในการไปทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีระบบการยืมคืนในลักษณะลงชื่อขอใช้และนำมาคืน ณ บริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของอาคาร ซึ่งสร้างความพึงพอใจกับผู้ใช้บริการได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมการทำงานที่จะต้องเดินทางระยะทางสั้นๆ อยู่แล้ว การมีจักรยานจึงทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

จัดระบบซ่อมบำรุงจักรยาน

องค์กรแค่จัดเตรียมอุปกรณ์ในการซ่อมจักรยานไว้สักมุมหนึ่ง เพื่อให้สมาชิกที่จักรยานขัดข้องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ยางแบน ยางแตก ได้ซ่อมจักรยานของตัวเองเพื่อให้ใช้งานต่อได้ ก็จะทำให้กลุ่มคนปั่นรู้สึกอุ่นใจเป็นการกระตุ้นสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้จักรยานได้บ่อยขึ้น และจะนำไปสู่การสร้างวิถีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันต่อไปครับ

Print Friendly, PDF & Email