Home ข้อมูลความรู้ บทความ เดินมาก ถ้าอยากให้กระดูกแข็งแรง

เดินมาก
ถ้าอยากให้กระดูกแข็งแรง

ที่มาภาพจาก http://www.freepic.com/free-photo/man-standing-on-the-old-wooden-floor_1191544.htm

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 จากการคาดการณ์ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติในปีนี้ (2560) ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในราว พ.ศ.2567-2568

สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุโดยทั่วไปเผชิญคือการที่กระดูกอ่อนแอลง นพ.โยะชิโนริ นะงุโมะ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกบอกว่า กระดูกคนเราเป็นเหมือนธนาคารที่เก็บสะสมแคลเชียมเอาไว้ เมื่อแคลเซียมในเลือดลดลง ร่างกายก็จะนำแคลเซียมจากกระดูกมาใช้แทน แคลเซียมในกระดูกของคนเราจึงลดน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นไป เนื่องจากแคลเซียมมีหน้าที่สำคัญในการสร้างกระดูก เมื่อมีการสลายแคลเซียมจากกระดูก มวลกระดูกจะลดลงจนเป็นเหตุของโรคกระดูกพรุนได้ สาเหตุที่แคลเซียมในกระดูกลดลงนี้เกี่ยวข้องกับปริมาณฮอร์โมนเพศที่ลดลง เพราะเดิมทีฮอร์โมนเพศ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนเพศหญิงหรือเพศชายก็มี “ฤทธิ์เสริมสร้าง” ทำให้กระดูกแข็งแรงและกล้ามเนื้อบึกบึน ถึงแม้ผู้ชายจะใกล้วัย 80 ปี ปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตออกมาก็ไม่น้อยไปกว่าช่วงวัยรุ่น ในขณะที่ฮอร์โมนเพศหญิงจะเริ่มลดลงตั้งแต่อายุประมาณ 25 ปี และจะหยุดผลิตเมื่อผู้หญิงหมดประจำเดือนตอนอายุประมาณ 50 ปี นอกจากนั้น รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ แพทย์ออร์โทปิดิกส์ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย กล่าวว่า การสลายแคลเซียมจากกระดูกยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราด้วยได้แก่
– การสูบบุหรี่
– ดื่มแอลกอฮอล์
– ดื่มชา กาแฟ และช็อกโกแลต
– ดื่มน้ำอัดลม มีกรดฟอสฟอริกที่กัดกร่อนกระดูก
– ไม่ถูกแสงแดดซึ่งทำให้ขาดวิตามินดีที่ช่วยการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้
– ไม่ออกกำลังกาย

“เมื่อกระดูกเสียแคลเซียมไป การกินแคลเซียมเป็นอาหารเสริมแม้จะมากเพียงใดก็ไม่มีผลช่วยอะไรมากนัก เพราะปัจจัยหลักสำคัญคือการที่ผู้สูงอายุออกกำลังกายในปริมารที่ลดน้อยลง” คุณหมอนะงุโมะกล่าว
การออกกำลังกายที่สำคัญของผู้สูงอายุคือ “การเดิน”
“แรงโน้มถ่วง จะทำให้กระดูกเพิ่มปริมาณแคลเซียมในกระดูกได้ตามธรรมชาติ”
ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเดินน้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น บางรายในแต่ละวันแทบไม่ได้มีการขยับตัวเลย ยิ่งทำให้ขาดแคลเซียมมากขึ้นไปอีก ส่งผลทำให้มีอาการปวดเข่าและปวดสะโพก พอปวดแล้วก็จะยิ่งเดินน้อยลงไปอีก เข้าสู่วงจรแย่ๆ จนกระดูกอ่อนแอลงไปเกินแก้ไขเดินด้วยขาตนเองไม่ได้ ต้องใช้รถเข็น

เมื่อผู้สูงอายุมีการเดินที่ไม่เพียงพอ กระดูกก็จะค่อยๆ เปราะบางลง กระดูกของผู้สูงอายุจะพรุนอยู่ที่การเดินมากกว่าการกินแคลเซียม
คุณหมอแนะนำว่า ถ้าอยากทำให้กระดูกแข็งแรงต้องเดินให้มากเป็นสองเท่าของคนทั่วไป เพราะแรงโน้มถ่วงจะทำให้กระดูกเพิ่มปริมาณแคลเซียมในกระดูกเพิ่มปริมาณแคลเซียมในกระดูกได้ตามธรรมชาติ ถ้าจะให้ดีต้องเดินมากๆ ตั้งแต่เด็กๆ เพื่อสะสมความแข็งแรงของกระดูก และฝึกให้มีนิสัยรักการเดิน เดินเป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ

คุณหมอนะงุโมะมีอายุถึง 60 ปีแล้ว แต่อายุกระดูกที่ตรวจวัดได้ยังเพียงแค่ 28 ปี
คุณหมอรักการเดินเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคุณหมอบอกว่า การเดินน้อยในวัยเด็กที่สะสมมาจะมีผลอย่างยิ่งต่อรับความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น
ดังนั้น พ่อแม่ที่โอ๋ลูกมาก ไม่ยอมให้ลูกได้เดินไกลเพราะกลัวลูกเหนื่อย หรือกลัวลูกลำบาก ควรจะรีบเปลี่ยนความคิดใหม่
อย่าได้ทำร้ายสุขภาพของลูกในระยะยาวที่จะเดินด้วยขาตัวเองไม่ได้เมื่อมีอายุที่มากขึ้น
คุณหมอนะงุโมะชี้ว่า พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะฝึกให้ลูกเดินมากๆ
ถ้าบ้านกับโรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากกันมากนักก็จะใช้วิธีเดินไปกลับแทนการนั่งรถไฟฟ้า
ถ้าขึ้นรถไฟฟ้าก็จะพยายามให้เด็กๆ ได้ยืนเพื่อฝึกกำลังขาและสะโพก เพราะการฝึกขาและสะโพกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กจะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงของกระดูกไปตลอดชีวิต
รู้อย่างนี้ แต่ละวันเดินให้มากขึ้นดีกว่าก่อนที่จะใช้ขาตัวเองเดินไม่ได้ และชักชวน สร้างเงื่อนไขเอื้ออำนวย ให้ลูกหลานและคนรอบข้างเรา ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เดินให้มากขึ้นด้วยนะครับ

ที่มา: นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 39 ฉบับที่ 466 กุมภาพันธ์ 2561

 

Print Friendly, PDF & Email