Home ข้อมูลความรู้ บทความ เมื่อวาระเรื่องการเดินและจักรยานได้รับการบรรจุใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


นับเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 12) ได้หยิบยกประเด็นการเดินและใช้จักรยาน เข้ามาบรรจุในแผนอย่างเป็นทางการและชัดเจนที่สุด แม้จะเคยมีการถึงอยู่บ้างในฉบับที่ 6 (ในช่วง พ.ศ.2545-2549) ก่อนจะมาถึงแผนการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม

ความสำคัญของแผนพัฒนาฯ นั้นก็เพื่อเป็นการยืนยัน ข้อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆ รวมแล้วประมาณ 10 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งในฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 12) มีข้อกำหนดยุทธศาสตร์ทั้ง 10 ด้าน ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหาร จัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
ยุทธศาสตร์ ข้อที่ 7 คือการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยยุทธศาสตร์ข้อนี้ มีการแจกแจกการพัฒนาไว้ถึง 6 ด้านด้วยกัน โดยด้านที่ 1 ระบุว่า
“พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง (Non Motorized Transport : NMT) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางข้าม ทางเท้า และทางจักรยาน ในพื้นที่ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง สร้างมาตรฐาน และคุ้มครองความปลอดภัย ผู้สัญจรทางเท้า และผู้ใช้จักรยานในเขตเมือง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการเดินทางที่ไม่ใช่เครื่องยนตร์ในภาพรวม”
เป้าหมายคือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะต่อไป ต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้สูงอายุ โดยออกแบบพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของภาครัฐ ให้อำนวยความสะดวก รองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)

นอกจากนี้ ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แจกแจงการพัฒนาไว้ 3 ด้าน และด้านที่ 2 หัวข้อการพัฒนาเมือง ได้ระบุว่า
“พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรและให้ประชาชนเข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะซึ่งมีต้นทุนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อระบบรถประจำทาง ระบบทางจักรยาน ทางเท้า และการพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะในเขตเมือง ภายใต้หลักการส่งเสริมความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของคนทุกช่วงวัยและผู้พิการ รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบท”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับความหวังของชาวจักรยาน
นับเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่เปรียบเสมือนว่าชาวจักรยาน คนเดินเท้า มีคำสัญญาที่เป็นรูปธรรมในการดูแลความปลอดภัย และเห็นความสำคัญของชุมชนวิถีจักรยานอย่างชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่เคยมีแผนพัฒนาฯ ขึ้นมากว่า 50 ปี โดยเฉพาะการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง
ถือเป็นก้าวสำคัญอีกหนึ่งก้าว เป็นความสำเร็จของการผลักดันนโยบายสาธารณะ และหวังว่าจะช่วยให้ทุกภาคส่วนนำไปเป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้สังคมของเรา มีการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก สำหรับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคตต่อไปด้วย

ที่มา : แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

Print Friendly, PDF & Email