Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย ขี่จักรยานในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องยาก  ตอนที่ 1 เตรียมตัวคนขี่ให้พร้อม

น่าจะต้องเริ่มต้นด้วยการพูดซ้ำย้ำอีกครั้งว่า

การขี่จักรยานที่ให้ผลดีทุกด้านคือ การขี่หรือใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ขี่ไปทำงาน ขี่ไปเรียน ขี่ไปจับจ่ายซื้อของ หรือทำกิจต่างๆ  เพราะการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทาง/ขนส่ง โดยเฉพาะการใช้แทนการขับรถยนต์ส่วนตัวหรือยานยนต์ใดๆ ให้ผลดีในด้านเศรษฐกิจคือช่วยประหยัดเงิน-ลดค่าใช้จ่าย  ด้านสิ่งแวดล้อมคือช่วยลดการสร้างมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และด้านสังคมคือช่วยให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งการขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกาย เพื่อความเพลิดเพลิน และเพื่อแข่งขัน ไม่ได้ให้ผลดีเหล่านี้

กระนั้นในไทย คนที่ขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกายหรือเพื่อความเพลิดเพลินเป็นประจำจนขี่จักรยานได้อย่างเชี่ยวชาญ และคนที่ขี่จักรยานเข้าแข่งขัน ซึ่งหมายความว่าต้องขี่ได้เก่งกาจ อย่างน้อยก็เก่งกาจว่าคนทั่วๆไปที่ขี่จักรยาน  เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  เมื่อสอบถามพวกเขาว่าทำไมไม่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  คำตอบที่ได้รับก็มักจะเป็นการให้เหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัย และสภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย คืออากาศร้อนและฝน  เมื่อคิดไปก่อนล่วงหน้าถึงความยากลำบากโดยไม่ได้ลองทำ ไม่ได้เริ่มสักครั้ง หรือไม่ได้หาทางแก้ไข ขจัดหรือลดอุปสรรคที่เป็นข้ออ้างดังกล่าว ก็เลยไม่ได้ทำ  บางคนอาจจะลองใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแล้วมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีเข้าสักครั้งก็เลิกทำ

ผมเคยเขียนบทความมาแล้ว 2-3 ครั้ง แนะนำการขี่จักรยานในชีวิตประจำวันเมืองจากประสบการณ์ของตนเองที่ทำมายี่สิบกว่าปี จนในช่วงห้าหกปีมานี้เลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวที่บ้านไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเดินทางตามลำพัง กลายเป็น “คนปลอดรถ” (Car Free Man) และจากประสบการณ์ของผู้ใช้จักรยานในต่างประเทศที่ได้เอามาเขียนถ่ายทอดไว้ในสื่อต่างๆ  เวลาผ่านมาระยะหนึ่งแล้วจึงคิดว่าน่าจะเขียนอีกครั้งหนึ่งได้ บางส่วนเป็นการตอกย้ำที่เขียนไว้แล้ว และบางส่วนก็เป็นของใหม่

การใช้จักรยานมีองค์ประกอบใหญ่ 3 อย่างคือ คนขี่คือตัวคุณเอง จักรยานที่คุณขี่ และสภาพแวดล้อมที่คุณขี่  ข้อเขียนนี้จึงแบ่งเป็น 3 ตอน ขอเริ่มต้นที่ตัวคุณเองก่อน

เด็กขี่จักรยานและเดินไปเรียนที่หาดใหญ่

เตรียมตัวคนขี่ให้พร้อม

การได้เตรียมตัวให้พร้อมย่อมสร้างความมั่นใจ มีความมั่นใจตั้งแต่ก่อนออกไปขี่และเมื่อเริ่มขี่ก็ได้ชัยชนะกับตัวเองไปกว่าครึ่งแล้ว  ไม่ใช่ว่าพอจะขี่จักรยานออกไปก็พบว่าลืมนั่นลืมนี่ ไอ้นั่นก็ยังไม่พร้อม ไอ้นี่ก็ยังไม่ได้ทำ ทำให้เริ่มต้นอย่างขลุกขลัก เป็นกังวล เสียสมาธิ การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเราจะมีจุดหมายปลายทางชัดเจนอยู่แล้วว่าจะไปที่ไหน เวลาใด ใช้เส้นทางใดมีสภาพเช่นไร ทำให้เตรียมตัวได้ล่วงหน้าก่อนเดินทาง  เช่น

  • หาเสื้อผ้ารองเท้าที่ขี่ได้สบาย เช่น ระบายอากาศได้ดี และใช้ในการใส่ประกอบกิจที่คุณจะไปทำได้อย่างเหมาะสมด้วย เช่น ใส่ทำงาน ใส่เรียน ฯลฯ ซึ่งจะสะดวกที่สุด เพียงแต่คุณเช็ดเหงื่อ ล้างหน้าล้างตา หวีผม จัดหน้าตา ก็ไปทำงาน เรียน ฯลฯ ได้เลย ไม่ต้องใช้เวลามาก เดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำหรับใช้ขี่จักรยานในชีวิตประจำวันออกมาขายแล้ว
  • ถ้าไปประชุมหรือทำกิจที่ต้องแต่งกายสะอาดหรืออยู่ในชุดเรียบร้อยที่ไม่เหมาะกับการใส่ขี่จักรยาน หรือใส่ขี่จักรยานแล้วจะเลอะเทอะหรือเปียกไปด้วยเหงื่อ ก็ควรเตรียมเครื่องแต่งกายนั้นไปเปลี่ยนเมื่อถึงจุดหมาย ต้องมีผ้าเช็ดหน้าเช็ดตัว มีอุปกรณ์แต่งตัวที่จำเป็น เช่น หวี น้ำยาดับกลิ่นตัว ในกรณีที่เป็นการขี่ไปทำงาน คุณยังเอาเสื้อผ้ารองเท้าและอุปกรณ์แต่งตัวเหล่านี้ไปเก็บเตรียมไว้ที่ทำงานล่วงหน้าได้เลย
  • ถ้าการเดินทางขากลับหรือช่วงใดก็ตาม อยู่ หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะอยู่ ในเวลากลางคืน เช่น การประชุมที่คุณขี่จักรยานไปร่วมมีกำหนดว่าจะเลิกตอนบ่าย แต่อาจยืดเยื้อไปถึงค่ำ ก็ต้องเตรียมไฟและอุปกรณ์สะท้อนแสงติดไปด้วย ซึ่งหมายความว่าจะต้องตรวจสอบก่อนเดินทางด้วยว่าใช้ได้ดีหรือไม่

ผู้เขียนกลับจากขี่จักรยานไปทำงานถึงบ้านตอนค่ำท่ามกลางสายฝน

  • ดูพยากรณ์อากาศว่าเป็นอย่างไร การลง app พยากรณ์อากาศในโทรศัพท์มือถือก็เป็นประโยชน์ สามารถดูได้ก่อนขี่จักรยานออกไปแต่ละครั้งด้วย เพราะสภาพอากาศอาจเปลี่ยนได้จากที่พยากรณ์ไว้ในวันหรือคืนก่อน   ถ้าอากาศแจ่มใส น่าจะมีแดดจัด การปกปิดแขนและใบหน้าในช่วงแดดแรงก็เป็นความคิดที่ดี รวมทั้งการเตรียมน้ำดื่มไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดด  ส่วนถ้าเป็นไปได้ว่าฝนจะตกในพื้นที่และช่วงเวลาที่คุณขี่จักรยาน ก็ต้องเตรียมเสื้อกันฝนและพลาสติกที่จะห่อหรือคลุมสิ่งของกันฝนด้วย  ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ว่าอุปกรณ์จะดีจะแพงเช่นไร ถ้าฝนตกหนักมากๆแล้ว ก็ไม่ประกันว่ามันจะกันฝนได้ร้อยทั้งร้อย และในสภาพเช่นนั้น คุณก็ควรจะหยุดหลบฝนที่ใดสักแห่งระหว่างทาง รอจนฝนซาลงจึงขี่ต่อจะดีกว่า  หรือถ้าคุณสามารถยืดหยุ่นช่วงเวลาเดินทางได้ คุณก็อาจจะออกไปก่อนฝนลงหรือหลังฝนหยุดแล้ว   อีกอย่างหนึ่งเวลาฝนตก ทัศนวิสัยจะลดลง เสื้อกันฝนที่มีสีสันสดใสจะช่วยให้คนขับรถเห็นคุณได้ดีขึ้น แต่ที่ดีกว่าคือใช้ไฟทั้งหน้า-หลัง เช่นเดียวกับการขี่จักรยานเวลากลางคืน และอย่าลืมใส่รองเท้าที่เหมาะสม เช่น รองเท้ายาง และเตรียมรองเท้าคู่สวยเอาไว้ไปเปลี่ยนเมื่อถึงจุดหมาย
  • เมื่อคุณใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ก็จะมีสถานที่ที่คุณขี่ไปเป็นประจำ ไม่ว่าสถานที่ทำงาน สถานศึกษา ตลาด ฯลฯ ถ้าคุณยังไม่เคยขี่จักรยานไปสถานที่เหล่านี้มาก่อน ก็ควรศึกษาเส้นทางล่วงหน้า Google Map ช่วยได้มากจริงๆ ไม่เพียงแต่ลองให้มันแนะนำเส้นทางเท่านั้น ในหลายเมือง คุณยังดูสภาพที่เป็นจริงของพื้นที่จุดต่างๆได้ด้วย  หรือคุณอาจสอบถามผู้ใช้จักรยานคนอื่นที่คุณรู้จักหรือผ่านทางสื่อสังคมให้แนะนำเส้นทาง  เมื่อเลือกได้เส้นทางแล้ว หากเป็นไปได้ คุณควรจะไปทดลองขี่ตามเส้นทางนั้นดูก่อนอย่างน้อยสักครั้ง อาจจะเป็นในวันหยุด หรือนอกชั่วโมงเร่งด่วนที่มียานพาหนะบนถนนน้อย เพื่อให้คุ้นเคยกับสภาพถนนและสิ่งรอบข้าง ลดโอกาสที่จะพบสิ่งที่ทำให้คุณแปลกใจ รู้สึกว่าไม่เสี่ยงมากนัก ปลอดภัยเพียงพอ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น   คุณอาจพบว่าบางช่วงไม่เหมาะหรือไม่ดีที่สุดที่จะขี่เป็นประจำ คุณก็จะได้เปลี่ยนเส้นทาง
  • สำหรับผู้ใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ควรลง app ปั่นเมือง Punmuang ของมูลนิธิโลกสีเขียวไว้ในในโทรศัพท์มือถือของคุณ app นี้ช่วยได้มากในการค้นหาข้อมูลร้านจักรยานและสถานที่ที่เกี่ยวข้องต่างๆ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขี่จักรยานที่คนอื่นเอามาแบ่งปัน ข้อมูลเหล่านี้อาจช่วยคุณได้หลายอย่าง ตั้งแต่การวางแผนขี่ในยามปกติ และการช่วยเหลือที่คุณอาจหาได้ในยามฉุกเฉิน เช่น เมื่อยางแตกยางรั่ว อาจจะพบว่ามีร้านซ่อมจักรยานอยู่ใกล้ๆ มีช่างช่วยคุณได้

ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันควบคู่กับรถไฟฟ้า BTS

  • ในกรุงเทพฯ ถ้าสถานที่ทำงานหรือที่เรียนของคุณอยู่ไกลหรือค่อนข้างไกล “ไกล” คือระยะแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรู้สึกและความสามารถของแต่ละคนนะครับ คุณต้องประเมินเอาเอง อย่าเอาของคนอื่นมาเป็นเกณฑ์  คุณอาจไม่จำเป็นต้องขี่จักรยานตลอดก็ได้ ถ้าสามารถเดินทางส่วนหนึ่งด้วยรถไฟฟ้า (BTS, MRT หรือ Airport Rail Link) ในกรณีนี้ คุณต้องใช้รถจักรยานที่พับได้ ขนาดล้อไม่เกิน 20 นิ้ว พับขึ้นรถไฟฟ้าไป  แต่ก็ควรมีมารยาท หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่คนแน่นที่สุดคือช่วงก่อนเข้างานตอนเช้าและหลังเลิกงานตอนเย็นในวันจันทร์ถึงศุกร์ และควรไปขึ้นที่หัวสุดหรือท้ายสุดของขบวน เพื่อว่าจักรยานของคุณแม้จะพับแล้วจะไม่ไปเกะกะขีดขวางผู้โดยสารอื่น  แต่การเดินทางผสมแบบนี้ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มไม่น้อย เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองไทยไม่ถูกเลย! แต่ยังไงก็ยังดีกว่าการขับรถยนต์ส่วนตัวไปตลอดทาง
  • เรียนรู้และฝึกให้แน่ใจว่าคุณสามารถสูบลมและเปลี่ยนยางในได้คล่อง และเตรียมสูบลมและยางในอะไหล่ติดไปด้วยเสมอเวลาเดินทาง
  • ท้ายสุด (แต่ไม่ใช่สุดท้าย เพราะยังมีอีกเยอะที่เตรียมได้) คือเตรียมเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินด้วย เช่น แม้ที่จุดหมายปลายทาง คุณสามารถจอดจักรยานทิ้งไว้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องล็อก แต่ระหว่างทาง คุณอาจจะต้องหยุดและออกห่างทิ้งรถจักรยานไว้ เช่น ไปเข้าห้องน้ำที่สถานีน้ำมัน ดังนั้นคุณควรจะมีล็อกติดตัวไปด้วยเสมอ คุณจะสามารถล็อกจักรยานทิ้งไว้ได้ชั่วคราวระยะสั้นๆอย่างปลอดภัย ของอื่นๆที่ควรมีคืออุปกรณ์เปลี่ยนยางและยางในดังที่กล่าวไปแล้ว น้ำดื่ม เงินสด หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ  อีกอย่างหนึ่งคือ การชน ล้ม หรือเหตุการณ์ที่ทำให้คุณบาดเจ็บนั้นเกิดขึ้นได้  ดังนั้นการเตรียมตัวอีกอย่างที่อยากแนะนำ คือการทำประกันอุบัติเหตุไว้ ถ้าคุณไม่มีประกันประเภทนี้อยู่ก่อน เมื่อขี่จักรยานเป็นประจำ ทำไว้ก็ดี เดี๋ยวนี้มีบริษัทที่รับทำประกันสำหรับคนที่ใช้จักรยานเป็นการเฉพาะแล้ว  มีประกันไม่ได้หมายความว่าช่วยป้องกันมิให้เกิดเหตุได้ แต่อย่างน้อยคุณก็อุ่นใจได้อยู่เสมอว่าเกิดเหตุอะไร ก็ยังมีคนมาจ่าย

ใหม่ๆ อาจจะต้องทำรายการไว้ตรวจเตือนตัวเองว่าเตรียมไปครบถ้วนที่จำเป็นหรือยัง  แต่ถ้าทำเป็นประจำจนรายการเข้าไปอยู่ในความทรงจำแล้ว รายการนี้ก็ไม่จำเป็น  คำแนะนำเกี่ยวกับรายการของที่ควรเตรียมนี้มีคนที่มีประสบการณ์เอามาแบ่งปันไว้ไม่น้อย ค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ต  รายการของคุณอาจจะสั้นจะยาว มีสิ่งที่ต้องเตรียมน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง เส้นทางและเวลาที่คุณจะขี่ และสภาพลมฟ้าอากาศ  สิ่งที่สำคัญที่สุดตรงนี้คือควรเตรียมทุกครั้งที่จะออกไปขี่จักรยาน 

(อ่านต่อตอนที่ 2 เตรียมจักรยานให้พร้อม)

กวิน ชุติมา กรรมการ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

พฤษภาคม 2560

Print Friendly, PDF & Email