Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย ซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

 

ผู้อ่านที่ติดตามอ่าน ‘ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย’ และ ‘ไก่สามอย่าง’ ของผมมาแล้วก็จะรู้ว่าผมได้ลงแข่งไตรกีฬาที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 ในไทยที่พัทยา และจัดโดยสมาคมไตรกีฬาสมัครเล่นของญี่ปุ่นที่อยากมาจัดงานนี้ที่เมืองไทย ซึ่งรู้สึกมาจัดหนเดียวแล้วหายไปเลย ไม่รู้ว่าเข็ดหรือไปหาที่แข่งที่ประเทศอื่นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือหาสปอนเซอร์ไม่ได้ก็ไม่รู้

และผู้อ่านกลุ่มนี้ก็คงรู้อีกเช่นกันว่าผมได้ผลการแข่งขันเป็น DNF คือ Did Not Finish หรือแข่งไม่จบ ซึ่งที่แข่งไม่จบไม่ใช่เพราะไม่มีแรง แต่เป็นเพราะดันไปยางแตกเมื่อขี่ไปได้ 19.5 กิโลเมตร และไม่มียางอะไหล่และสูบติดตัวไปด้วย จึงต้องออกจากการแข่งขัน

ระหว่างที่เดินจูงจักรยานกลับไปจุดบริเวณจัดงาน ซึ่งห่างออกไปอีก 20 กิโล ท่ามกลางแดดเปรี้ยง มีรถกรรมการผ่านมา ผมจึงได้โบกรถขอขึ้นกลับไปด้วย พอไปถึงจุดเปลี่ยนผ่านประเภทกีฬาหรือ transition zone เห็นนักแข่งคนอื่นที่เข้ามาและลงจักรยานและออกไปวิ่ง ใจมันอดไม่ได้ ผมเลยออกวิ่งตามเขาไปเพื่อเอาความสนุกเพราะจริงๆผมต้องออกจากการแข่งขันไปแล้ว และพอวิ่งเข้าเส้นชัยใช้เวลาไป 42:59 นาที กรรมการญี่ปุ่นโดดเข้ามาข้างๆแล้วประกาศเบอร์ผมให้กรรมการจับเวลาจดเวลาเข้าเส้นชัยของผม ผมต้องรีบเอามือขยุ้มเบอร์ที่หน้าอก แล้วบอกว่าผม out of competition หรือออกจากการแข่งขันไปแล้ว ผลการแข่งขันของผมจึงออกมาเป็น DNF อย่างที่บอก

และก็อย่างที่บอกไว้ในบทความแรกว่า ผมกินกล้วยไป 2 ลูกเล็กๆตอนขึ้นจากน้ำ และอีก 3 ลูกเล็กๆตอนขี่จักรยานไปได้สิบกว่าโล กะจะเอาเป็นพลังงานไว้ใช้ตอนวิ่ง แต่ผลกลับไม่ใช่อย่างนั้น ผมเกิดอาการจุกจนต้องเดินอยู่ช่วงหนึ่ง และทำให้เวลาวิ่งช้าไปกว่าที่ควรหลายนาทีอยู่

นอกจากนี้ก่อนการแข่งขันผมต้องการทำเวลาให้ดีๆ จึงวางแผนใช้เวลาในการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้น้อยที่สุด โดยสวมกางเกงจักรยานทับไปบนกางเกงว่ายน้ำตอนขี่จักรยาน ซึ่งคิดเอาเองว่ามันน่าจะดีเพราะประหยัดเวลาที่จะเปลี่ยนกางเกงได้ และพอขี่จักรยานกลับมาถึงจุดวิ่งก็ถอดกางเกงจักรยานออกแล้วสวมกางเกงวิ่งทับกางเกงว่ายน้ำไปอีกที ปรากฏว่าตอนวิ่งสายเชือกกางเกงว่ายน้ำที่มันรัดรูปมากกว่ากางเกงแบบอื่น(เพื่อไม่ให้ต้านน้ำ)จึงรัดเอวแน่นไป ยิ่งทำให้จุกเข้าไปอีก
คราวหน้า(ถ้ามี)จึงเรียนรู้ว่า สงสัยต้องใช้ผ้าขาวม้ามานุ่งตอนเปลี่ยนกางเกงจากกางเกงว่ายน้ำเป็นกางเกงจักรยาน และจากกางเกงจักรยานมาเป็นกางเกงวิ่ง ซึ่งหลังจากนั้นผมก็ได้ทำแบบนี้มาตลอดที่ลงแข่งไตรกีฬาต่อมาอีกเกือบสิบครั้ง และเรียนรู้ด้วยว่าต้องไม่กินมากไป แม้จะมีเวลาให้ย่อยก่อนวิ่ง(ซึ่งเป็นกีฬาที่จุกง่ายที่สุด)ก็ตาม

อ่านมาถึงตรงนี้นักไตรกีฬาปัจจุบันคงสงสัยว่าทำไมต้องผลัดผ้าขาวม้า และทำไมต้องเปลี่ยนชุด ทำไมไม่ใส่ชุดไตรกีฬาที่ใช้ลงแข่งได้ทั้ง 3 ประเภทกีฬาเลย ก็คงต้องขอตอบว่าไอ้ชุดไตรกีฬาอย่างที่ว่าสมัยโน้นไม่มีครับ ขนาดแชมป์โลกยังไม่มีเลยครับ

หากมีคนถามว่าที่เขียนมานี้จำได้หมดได้ไง มีข้อมูลละเอียดยิบเป็นนาที ก็คงต้องตอบว่าจำไม่ได้หรอกครับ นี่โชคดีที่ไปค้นสมุดบันทึกการซ้อมวิ่ง ซ้อมว่ายน้ำ ซ้อมจักรยานของผม ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึง 2558 นี่ก็ 29 ปีเข้าไปแล้ว และทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เลย จึงอยากจะแนะนำเพื่อนที่ออกกำลังกายเป็นประจำให้ลองจดบันทึกดู เวลาผ่านไปนานๆแล้วหยิบมาอ่านจะได้ความรู้สึกเก่าๆดีทีเดียว

ย้อนกลับมาเรื่อง‘ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย’ที่ตั้งใจจะเขียนวันนี้ แต่ดันออกนอกเรื่องไปเสียไกล

จากการที่ผมได้ DNF นี่แหละที่มันคาใจผมอยู่ตลอด หลังจากที่ญี่ปุ่นจัดไตรกีฬาแรกของไทยเสร็จในปี 2530 ผมก็คอยเฝ้าดูประกาศข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตามเว็บไซต์ เอ๊ย! ‘โทษที! ตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ตามประกาศของ ททท. ฯลฯ ว่าคุณยุ่นจะกลับมาจัดอีกเมื่อไหร่ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีวี่แววว่าพี่ยุ่นจะกลับมา ถ้ามัน(ตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นเรียกพวกเขาว่ามันแล้วนะ โปรดสังเกต)ไม่กลับมาแล้วชาตินี้ผมจะปลดไอ้ DNF ที่เป็นตราบาปของผมได้ไง
หงุดหงิดและหันรีหันขวางได้ไม่นาน ก็เกิดไอเดียผุดขึ้นในสมองอย่างปัจจุบันทันด่วน
‘จัดเองสิวะ’ผมคิด

เพราะประสบการณ์การจัดแข่งวิ่งการกุศลของผมก็ทำมาแล้วหลายครั้งหลายสนาม ยิ่งใหญ่ขนาดเคยเป็นผู้อำนวยการควบคุมการแข่งขัน หรือ Race Director (ไม่ใช่กรรมการอำนวยการการแข่งขันนะครับ อันนั้นใหญ่กว่า) ของสะพานลอยฟ้ามาราธอนที่มีคนวิ่งเป็นแสนมาแล้ว คนมาร่วมงานมากขนาดนักวิ่งคนแรกเข้าเส้นชัยแล้วคนสุดท้ายยังไม่ได้ออกจากจุดสตาร์ทเลยก็แล้วกัน คิดดูว่าคนมากขนาดไหน และจัดการยากขนาดไหน งานนี้จึงน่าจะจัดได้น่า

เอาละวะ เมื่อคิดจะจัด และ(แอบ)คิดว่าจะลงแข่งกับเขาด้วย จะเป็นทั้ง Race Director และเป็นทั้ง Competitor นี่ละวะ ก็เริ่มวางแผน

พอเริ่มวางแผน ก็หยุดกึกติดกักทันที จะไปไงต่อล่ะหว่า เงินทุนก็ไม่มี คนช่วยก็ไม่มี ทีมงานก็ไม่มี ความรู้ในการจัดก็ไม่มี คนจะมากี่คนก็ไม่รู้ ที่แขวนจักรยานรูปร่างหน้าตาและขนาดท่อแขวนเป็นไง สูงเท่าไร ก็ไม่ได้จำเอาไว้จากตอนที่ญี่ปุ่นมาจัดแข่ง (ก็ไม่รู้นี่หว่าว่าตัวเองต้องมาจัดเอง จึงไม่ได้ใส่ใจจำ) จะไปจัดที่ไหนก็ไม่รู้ จะจัดที่ทะเลก็ดูปูมน้ำไม่เป็นว่าวันไหนเวลาใดจึงจะจัดแข่งได้ดีที่สุด จะจัดในน้ำจืดก็มองไม่เห็นว่าจะไปจัดที่ไหน แม่น้ำเจ้าพระยาไม่กล้าไปจัดแน่ๆเพราะมีอะไรที่ควบคุมจัดการไม่ได้เยอะแยะ น้ำสกปรกหรือเปล่าก็ไม่รู้ โอ๊ย…อีกมากมายที่ต้องขบคิดและหาทางแก้ไข

โชคดีที่ตอนนั้นผมสนิทกับทีมงานสปอร์ตเอซซึ่งเป็นบริษัทขายรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาไนกี้ทุกชนิด จึงเดินหน้าเข้าไปหาผู้บริหารและขอทุนมาจัดงานแบบดื้อๆ และเขาก็ดีใจหายตอบตกลงมาแบบง่ายๆเหมือนกัน

จากนั้นผมก็เดินสายคุยกับสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (สมัยก่อนมีคำว่า‘สมัครเล่น’ทุกสมาคมเพราะนักกีฬาเป็นนักกีฬาสมัครเล่นจริงๆ) ซึ่งก็โชคดีอีกที่ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากทั้งสี่สมาคม กรรมการที่ลงมาเล่นสนุกกับงานครั้งนี้อย่างจริงจังมีอยู่สองท่านที่ผมต้องขอเอ่ยนามไว้ คือ อาจารย์เสรี ไตรรัตน์ ผู้คร่ำหวอดกับวงการและสมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และ พ.ต.อ.ศิโรจน์ เพียรสกุล จากสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

จากนั้นก็มาถึงเรื่องหาสถานที่จัด ผมไม่กล้าไปจัดในทะเลเพราะไม่มีประสบการณ์ในการจัดไตรกีฬาเลย จึงอยากจะให้ตัวเองสบายใจหน่อย กะจะไปจัดในแหล่งน้ำปิด เช่น ทะเลสาบที่ไหนสักแห่ง แต่ต้องไม่ไกลจากกรุงเทพนัก เพราะไม่เช่นนั้นค่าโสหุ้ยจะสูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายของนักกีฬาจะมากตามไปด้วย อย่างที่บอกไว้น่ะครับ จะมีมากี่คนยังไม่รู้เลย ถ้าไปจัดไกลๆแล้วมีคนมาร่วมแค่ 20 คน มันคงจืดสนิทไม่มีน้ำปลาเลยแน่ๆ

ก็โชคดีอีกนั่นแหละ ไปรู้จักนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ลูกชายเขารู้จักลูกสาวเจ้าของโครงการเมืองทองธานี ที่มีทะเลสาบน้ำใสแจ๋วอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพมากนัก (แต่ตอนนั้นที่นั่นก็นับได้ว่า‘บ้านนอก’มากเลยนะครับ ไปมาทีนึงไม่ใช่ง่ายๆ ขนาดว่าแท็กซี่ไม่ค่อยยอมไปก็แล้วกันละ) รวมทั้งการจราจรไม่มาก และเจ้าของเขายอมให้ใช้สถานที่ เอาลานที่จอดรถริมทะเลสาบ มากางเต็นท์เป็นสถานที่อำนวยการ แล้วเอาเขตเปลี่ยนผ่านชนิดกีฬาหรือ transition zone ไว้บริเวณลานจอดรถเดียวกันนั่นแหละ สะดวกดี

ทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็มาถึงอีกปัญหาใหญ่ คือ แล้วจะลงไปวัดระยะทางในน้ำได้ไงวะ คิดไม่ออก สุดท้ายผมต้องเอาลูกศิษย์วิศวฯสำรวจจากจุฬาฯ เอากล้องทีโอโดไลท์ไปส่องวัดและคำนวณออกมาเป็นระยะทาง แต่พอรู้จุดประมาณว่าโป๊ะควรต้องอยู่ตรงไหนก็มามีปัญหาอีกว่า พอเอาโป๊ะลงน้ำแล้วก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้แล้ว แล้วจะรู้ได้ไงว่าโป๊ะมันอยู่ตรงจุดที่ที่ต้องการ สมัยก่อน GPS ก็ยังไม่มี สุดท้ายเปลี่ยนใจหันมาเอาเชือกมาวัดบนบกตามความยาวที่ต้องการ แล้วเอาเรือลากไปให้ตึง เพื่อจะกำหนดจุดวางโป๊ะ ไอ้เชือกเจ้ากรรมดันมายืดเมื่อโดนน้ำ แถมเวลาจะตรึงโป๊ะให้อยู่กับที่ที่ต้องการ มันก็ไม่ง่ายเหมือนเขียนในกระดาษ เพราะต้องทิ้งสมอลงไปเกาะพื้นดินใต้น้ำเพื่อยึดโป๊ะ ซึ่งมันก็ไม่ง่ายดังใจนึกอีกนั่นแหละ

ผมจะไม่บอกหรอกนะครับว่าสุดท้ายทำอย่างไร แต่เพียงแต่อยากจะบอกว่าการเข้ามาจัดไตรกีฬาเป็นคนแรกของประเทศนั่น ไม่ง่ายเลยครับ

อย่างไรก็ตาม ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้แบก สุดท้ายเราก็จัดมันจนได้ในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2531 ด้วยระยะทางว่ายน้ำ 1,000 เมตร จักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่ง 11.4 กิโลเมตร ถามว่าทำไมไม่วิ่ง 10 กิโลเมตรตามระยะทางมาตรฐาน คำตอบคือถนนที่เราจัดให้วิ่งเป็นวง loop มันกำหนดให้ต้องเป็นเช่นนั้น หากเปลี่ยนเส้นทางมันก็จะเหลือ 7-8 กิโลเมตร หรือไม่ก็ไปถึง 15 กิโลกว่าไปโน่น ซึ่งดูแล้วคงไม่เหมาะ และในสมัยโน้นคนเล่นไตรกีฬาร้อยละ 90 เป็นนักวิ่งมาก่อน การเพิ่มระยะทางวิ่งอีกเล็กน้อยคงไม่มีใครบ่น ผมแอบนึกแบบเข้าข้างตัวเองนิดหน่อย (ฮา)

และแล้วผมก็ได้เป็นทั้งประธานฝ่ายควบคุมการแข่งขัน และผู้ลงแข่งขันในไตรกีฬาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยคนไทย และได้เข้าเส้นชัยด้วยเวลาดีพอตัว คือ 2 ชั่วโมง 50 นาที ส่วนรูปประกาศนียบัตรเข้าเส้นชัยของผมหาไม่เจอ เลยเอาของ นพ.กฤษฎา บานชื่น มาให้ดูเล่น ซึ่งจะเห็นชื่อผมลงนามกำกับคู่กับ พล.ท.วัฒนชัย วุฒิศิริ ประธานกรรมการจัดการแข่งขัน และ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิช ประธานกรรมการอำนวยการการแข่งขัน ด้วย

เย้ … ปลด DNF ออกจากหัวใจกลัดหนองได้แล้วครับ … ไชโย้

บรรยากาศมาราธอนลอยฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มีคนมาร่วมแสนกว่าคน

Cr. ขอบคุณเจ้าของภาพ NEWS Lifestyle

 

Print Friendly, PDF & Email