Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย เกมส์กีฬา กับ กีฬาสปอร์ต

บทความที่จะทำนำเสนอต่อไปนี้ ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปีไหนไม่ได้ระบุชัดเจนนัก
หากแต่ที่นำมาเสนอนี้ เป็นตอนที่ 01 ในหนังสือชุดเดินไปปั่นไป ที่เขียนโดย ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ที่ระบุไว้หน้าสุดท้ายว่า “ปรับปรุงจากจดหมายข่าวชมรมฯ ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม 2542 ปีที่ 8 ฉบับที่ 95 หน้า
——————————————————————————————————-
นั่นหมายความว่า อาจารย์พูดถึงเรื่องนี้มาเกือบ 20 ปีละ แอดมินได้รับมอบหมายให้พิจารณานำเสนอบทความนี้อีกรอบ โดยมีข้อมูลการของการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ ในรูปแบบการนำเสนอคนละแบบ

แอดฯ อ่านบทความนี้วนไป พร้อมกับดูสื่อ youtube ที่มีประกอบ วนไป เช่นกัน

มันคือ “เรื่องเดียวกัน” ลองอ่านดูค่ะ

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามผลักดันให้ “ลีลาศ” หรือเต้นรำ ถูกบรรจุเข้าเป็นกีฬาแข่งขันนานาชาติ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็อยู่ในระดับการแข่งขันเอเชียนเกมส์หรือซีเกมส์ ซึ่งทำให้ผู้คนมากมายพากันสงสัยว่าเต้นรำมาเกี่ยวกับกีฬาได้อย่างไรเพราะมันคนละเรื่อง แต่จริงๆแล้วผมคงต้องขอบอกว่ามันเป็น‘คนละเรื่องเดียวกัน’ครับ

กล่าวคือ คำว่า“กีฬา”ที่พูดถึงนี้ตรงกับคำในภาษาอังกฤษสองคำคือ games และ sports ส่วนคำไทยที่แปลศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำนี้สมัยก่อนใช้คำว่ากีฬาเหมือนกัน ทั้งๆที่มีความหมายต่างกันมาก กล่าวคือ คำว่าสปอร์ต(sports)หมายถึงกีฬาประเภทที่ต้องใช้พละกำลังหรือแรง หรือความอดทน เข้าแข่งขันกันเพื่อหวังชัยชนะเป็นหลัก ส่วนความสนุกสนานเป็นรอง เช่น กีฬาวิ่ง 100 เมตร วิ่งมาราธอน ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ จักรยานถนน ฯลฯ ส่วนคำว่าเกมส์(games)ก็เป็นกีฬา(ในความหมายของศัพท์ไทยของบางคน)เช่นกัน แต่เป็นกีฬาที่อาศัยทักษะหรือความชำนาญเฉพาะอย่างมาเป็นส่วนสำคัญด้วย และในสมัยเดิมผู้เล่นจะมุ่งหวังความสนุกสนานหรือความสมัครสมานร่วมงานเป็นทีมเป็นหลัก ส่วนการชนะนั้นเป็นรอง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส กอล์ฟ ยิมนาสติก ฯลฯ อย่างที่เราเล่นเตะฟุตบอลโกล์เล็กหลังโรงเรียน หรือเล่นตี่จับสมัยยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม

แต่พอเล่นไปเล่นมา ก็กลับมุ่งเอาการชนะเป็นหลักและความสนุกสนานเป็นรอง โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่สังคมยึดเงินรางวัลเป็นแก่นสารกว่าสมัยก่อน การชนะจึงยิ่งทวีการมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้ว่าบุคคลที่คลุกคลีในวงการกีฬาในสมัยก่อนๆมาเป็นเวลานานมักจะบ่นกันว่านักกีฬาระดับทีมชาติและทีมเขต ฯลฯ สมัยนี้เรียกร้องเอาแต่เงินค่าตอบแทนเป็นตัวตัดสินว่าจะเล่นให้ทีมใด ผิดกับสมัยก่อนๆที่นักกีฬาเล่นกีฬาด้วยใจรักเป็นพื้น และไม่มุ่งหวังแสวงกำไรเอาจากการเล่นกีฬานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมก็ไม่ได้หยุดนิ่งกับที่ การเล่นกีฬาสมัยนี้สามารถยึดเป็นอาชีพได้สบายๆ ซึ่งในต่างประเทศเขาได้ทำมานานแล้ว บางคนสามารถทำเงินได้มากกว่านายกรัฐมนตรีไทยหรือประธานาธิบดีสหรัฐเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น ไมเคิล จอร์แดน นักกีฬาบาสเกตบอลระดับโลกชาวอเมริกันของทีมชิคาโกบูลล์ หรือ มาร์ตินา ฮิงกิส แชมป์เทนนิสชาวสวิสมือหนึ่งของโลก หรือ เปเล่ นักฟุตบอลชาวบราซิลที่ดังสูงสุดของโลก เป็นต้น ในปัจจุบันหรือไม่นานมานี้ประเทศไทยก็เริ่มมีคนยึดกีฬาเป็นอาชีพมากขึ้น เช่น แทมมี่ ธนสุกาญจน์ แชมป์เทนนิสหญิงที่ดีที่สุดเท่าที่ไทยมีมา หรือธงชัย ใจดี นักกอล์ฟอาชีพมือต้นๆของเมืองไทย หรือ เขาทราย กาแลกซี่ นักชกขวัญใจชาวไทย หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย(วัฒนา ภู่โอบอ้อม)อดีตมืออันดับสี่โลกของวงการสนุ้กเกอร์นานาชาติ เป็นต้น

ดังนั้นคำว่าเกมส์ในปัจจุบันจึงไม่เน้นเอาความสนุกสนานเป็นหลัก ชัยชนะเป็นรอง อย่างที่สมัยก่อนยึดถือเป็นประเพณีกันมาอีกต่อไป

ขอให้สังเกตคำว่าเกมส์นี้นอกจากจะรวมเอากีฬาหลักๆ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล ยิมนาสติกลีลา แบดมินตัน ปิงปอง ตะกร้อ ฯลฯ แล้ว โดยความหมายของมันยังรวมเอากีฬาเพื่อความสนุกสนานอื่นๆสำหรับเด็กๆและคนชราอีกด้วย เช่น ตั้งเต หมากเก็บ เปตอง ตลอดไปจนถึงเกมส์ที่ต้องใช้สมองและมักเหมาะกับผู้ใหญ่หรือเด็กโต เช่น บริดจ์(เกมไพ่ชนิดหนึ่ง) หมากรุก และการต่อคำ crosswords เป็นต้น

ข้อสังเกตอีกข้อคือ คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติไม่ได้เรียกมหกรรมกีฬาของตัวเองว่า OLYMPIC SPORTS แต่เรียกว่า OLYMPIC GAMES ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเขาต้องการรวมเอากีฬาที่ต้องใช้ทักษะหรือความชำนาญในการเล่นมาใช้แข่งขันกันด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่แรงมาสู้กันอย่างเดียวแบบกีฬาสปอร์ต เช่น ยกน้ำหนัก มวยปล้ำ หรือวิ่ง 100 เมตร พูดง่ายๆก็คือมนุษย์เรามีสมอง และได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความคิด มีการวางแผน มีการกำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน ฯลฯ แล้วเราจะเอาความสามารถที่เหนือกว่าสัตว์อื่นไปทิ้งให้เสียประโยชน์เปล่าๆทำไม บรรพบุรุษทางกีฬาของเราจึงกำหนดให้มี “เกมส์” ที่ต้องใช้สมองมาคานอำนาจกับคนที่มีกำลังมากๆแต่เพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างที่ดีได้แก่ กีฬาอเมริกันฟุตบอล หรือกีฬาคนชนคน ที่นอกจากจะเอาคนตัวใหญ่แรงเยอะมาชนกันแล้ว ยังต้องมีการวางแผนว่าจะวิ่งชนหรือปาลูกให้ลูกทีมไปรับ หรือหลอกคู่ต่อสู้ว่าจะทำอย่างแต่ไปทำอีกอย่าง หรือกีฬากอล์ฟที่นอกจากจะใช้แรงตีลูกแล้ว ยังต้องมีสมาธิแน่วแน่ไม่แกว่ง รวมทั้งรับแรงกดดันจากสถานการณ์รอบด้าน ตลอดจนต้องคิดตลอดเวลาว่าจะตีลูกอย่างไร ใช้ไม้อะไรตี เป็นต้น(หมายเหตุ:ในกีฬากอล์ฟ จะมีไม้ให้เลือกใช้นับสิบกว่าไม้ ไม่ใช่มีไม้เดียวแบบที่คนไม่เคยตีกอล์ฟเข้าใจ) กีฬาหรือเกมส์แบบนี้โดยทั่วๆไปแล้วจึงสนุกและเร้าใจกว่ากีฬาสปอร์ตมาก จึงมีคนติดตามดูมากกว่า ผู้เล่นจึงมี“ค่าตัว”สูงกว่านักกีฬาสปอร์ตอย่างเห็นได้ชัด

อย่างกีฬาหมากรุกนี่คนไทยบางคนอาจสงสัยว่าเป็นกีฬาได้อย่างไร เพราะไม่เห็นต้องใช้แรงเลย ทั้งๆที่ในต่างประเทศกีฬาหรือเกมส์นี้มีคนเฝ้าติดตามอย่างมาก มีการชิงแชมป์โลก คนที่ชนะเลิศได้เงินหลายสิบหลายร้อยล้านบาทไทย คือเล่นเป็นอาชีพได้สบาย และที่คนไทยเห็นเป็นเรื่องแปลกเช่นนี้ก็เพราะคนไทยไปยึดติดกับคำว่ากีฬาต้องเป็นสปอร์ต(ใช้แรง) มากกว่าเกมส์(ใช้ทักษะความชำนาญและสมอง)นั่นเอง

ข้อสังเกตประการที่สามคือ ในยุคสมัยก่อนคนเราเล่นกีฬา(เกมส์)เป็นแบบสมัครเล่น และเน้นน้ำใจนักกีฬาเป็นหลัก สมาคมกีฬาต่างๆยังมีคำว่า“สมัครเล่น”ต่อท้ายกันทุกสมาคม เช่น สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นฯ สมาคมกรีฑาสมัครเล่นฯ เป็นต้น นักกีฬาที่เล่นก็เล่นแบบใจรัก ไม่ได้คิดถึงเงินทอง แต่คำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีที่ได้มากกว่า เช่น ขอให้ติดทีมชาติก็ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ดังนี้เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนักกีฬาสมัครเล่นพวกนี้กลายเป็นนักกีฬา“อาชีพสมัครเล่น”ไปเสียเกือบหมดแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะสังคมเราไปยึดเอาเงินทองหรือค่าตอบแทนเป็นสรณะเกินไปนั่นเอง

พอมาปัจจุบัน คนไทยและคนในเอเชียเริ่มคุ้นกับความหมายของคำว่าเกมส์มากขึ้น ว่าเกมส์กีฬานี้ใช้ความสนุกสนานมาเป็นส่วนผสมด้วยได้ แต่ก็กลับไปเสียจนสุดขั้วอีกข้าง คือหันมาจัดเกมส์พื้นเมืองที่รู้จักกันในวงแคบๆและไม่ได้ใช้แรง หรือความอดทน หรือพละกำลัง หรือสมอง หรือทักษะสักเท่าใด มาเป็นเกมส์ในการแข่งขันนานาชาติระดับภูมิภาค เช่น มีเกมส์ปัญจักสีรัต (Silat Olahraga หรือรำมวยแขก)ในซีเกมส์ นี่ในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งล่าสุดก็มีตี่จับ(Kabaddi)กับตะกร้อวงและรำมวยจีน(Wushu)เข้ามามีบทบาทเข้าให้แล้ว

ทำเอาบางคนอดไม่ได้ต้องออกมากระแนะกระแหนว่าไม่ช้าก็อาจมีเกมส์เป่ากบ หรือ ปั่นแปะ ในการแข่งขันซีเกมส์กันก็เป็นได้

เพราะดูจะต้องการเอาชนะเป็นแชมป์เหรียญทองของการแข่งขันจนลืมไปว่าสปอร์ตนั้นคืออะไร เกมส์คืออะไร และกีฬาโดยความหมายของมันจริงๆนั้นคืออะไร

จักรยานเป็นได้ทั้งสปอร์ตและเกมส์ และเป็นได้แม้กระทั่งไม่ใช่ทั้งสปอร์ตและเกมส์ คือ เอาไว้ขี่ท่องเที่ยว ขี่รณรงค์ลดโลกร้อน ขี่ไปจ่ายกับข้าว ขี่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ขี่ไปโรงเรียน ขี่ไปทำงาน ขี่ไปนาไปไร่ และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง

ปัจจุบันจักรยานได้รับความสนใจจากคนในประเทศมากขึ้น แต่สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาประชาชนตามสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสารต่างๆ มักจะเป็นในรูปแบบของการแข่งขัน หรือการขี่ท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ ซึ่งก็เป็นสีสันให้กับสังคมไทย แต่สิ่งที่ชุมชนและประเทศต้องการมากในขณะนี้น่าจะเป็นการผลักดันให้เกิด‘ชุมชนจักรยาน’ที่มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง



ปรับปรุงจากจดหมายข่าวชมรมฯฉบับประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๒ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๙๕ หน้า ๗

 

 

Print Friendly, PDF & Email