Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย Tactical Urbanism แนวคิดเบื้องหลังการออกแบบถนน “ชิบูย่าแห่งอุดรฯ”


ทุกวันนี้การขยายตัวหรือการพัฒนาเมืองไม่จำกัดแค่อยู่ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่อีกต่อไป หลายจังหวัดในบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ลุกขึ้นมาเริ่มต้นพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นเมืองแห่งการเดิน ในคอนเซปต์ “อุดรธานี เมืองเดินได้ เดินดี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ถนนชิบูย่าเมืองอุดรฯ”

สำหรับในประเทศไทย อุดรธานีถือว่าเป็นจังหวัดแรกๆ ที่นำแนวคิด Tactical Urbanism มาใช้พัฒนาเมือง โดยเริ่มต้นที่บริเวณสี่แยกถนนทองใหญ่ ตัดกับถนนประจักษ์ศิลปาคม หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งเป็นย่านธุรกิจของอุดรธานี แน่นอนว่าเมื่อเป็นสี่แยกใหญ่ติดตลาดสำคัญใจกลางเมือง การจราจรย่อมติดขัดแบบไม่ธรรมดา ทั้งจากปัญหาการจอดรถไม่เป็นระเบียบ คนข้ามถนนตามใจต้องการด้วยความสับสน เพราะไม่มีทางม้าลายเป็นไกด์นำ

Tactical Urbanism อุดรสไตล์ เริ่มต้นจากการตีเส้นทางม้าลาย 4 ด้านถนน และเพิ่มทางทแยงมุมเป็นสีเหลือง เลือกใช้สีสันฉูดฉาดสะดุดตา เพื่อกระตุ้นให้คนเดินถนนหันไปเดินบนทางม้าลายช่วยลดปัญหารถติดลงไปได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยมากขึ้น โมเดลนี้หลายคนบอกว่าคล้ายกับถนนในย่านธุรกิจ “ชิบูย่า” กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยวิศวกรรมจราจร มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทางม้าลายที่มีสีสันสะดุดตา ทำให้ผู้ขับขี่รถชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติ พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมให้ขับรถช้าลง แต่เนื่องจากพฤติกรรมการขับขี่รถของคนไทยกับคนญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน ดังนั้นการควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกที่อุดรฯ ต้องสอดคล้องระหว่างคนเดินข้ามกับเวลาการหยุดของรถด้วย

นอกจากนี้ ถนนพิเศษสายนี้ยังออกแบบโดยใช้เกณฑ์ LEED-ND (Leadership in Energy and Environmental Design for Neighborhood Development) โดยเริ่มทดสอบการปรับสัญญาณไฟจราจร เพื่อเอื้อต่อการเดินข้ามถนนทุกด้าน รวมถึงแนวทแยง โดยจะมีไฟแดง 3 จังหวะ จังหวะที่ 1 ไฟเขียวถนนประจักษ์ศิลาปาคม จังหวะที่ 2 ไฟเขียวถนนทองใหญ่ จังหวะ 3 ไฟแดงสี่ทิศทาง 30 วินาที เพราะถนนไม่กว้างมาก เพื่อให้คนเดินข้ามไปมาอย่างปลอดภัย

งานนี้ทางจังหวัดอุดรธานีให้ความสำคัญกับทุกชีวิตบนท้องถนน ด้วยใช้โมเดลการออกแบบถนนสมบูรณ์ควบคู่ไปด้วย (Complete Streets) ที่ไม่เพียงเน้นกลุ่มคนเดินถนนเท่านั้น แต่รวมถึงคนใช้รถยนต์ จักรยานยนต์ ผู้ประกอบการธุรกิจบนถนน และคนขี่จักรยาน โดยเพิ่มพื้นที่สาธารณะริมถนนด้วย โดยระบายสีเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสีที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมการผังเมืองทั่วโลก

ถึงแม้ว่าการพัฒนาเมืองครั้งนี้อาจยังไม่สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซนต์ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะคนใช้รถและใช้ถนนในชุมชน แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกที่อาจสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้ผู้คนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ที่มา : https://becommon.co/world/udonthani-tactical-urbanism/

 

 

Print Friendly, PDF & Email