Home ข้อมูลความรู้ บทความ ไมโครโมบิลิตี้เติมช่องว่างที่เกิดขึ้นได้เมื่อผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขยายออกไป

(เรียบเรียงจาก As the Impacts of Coronavirus Grow, Micromobility Fills in the Gaps, 24 มีนาคม 2563)


ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ก่อความโกลาหลให้กับชีวิตประจำวันของผู้คนไปทั่วโลก หลายสิ่งหลายอย่างก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งวิธีที่คนเดินทางไปไหนมาไหนด้วย  สถาบันเพื่อนโยบายการขนส่งและการพัฒนา (Institute for Transport and Development Policy – ITDP) จึงได้พัฒนาคำนิยามสำหรับไมโครโมบิลิตี้ (micromobility) ขึ้นมาและพยายามช่วยเมืองต่างๆ จัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้สนับสนุนการเดินทางทุกแบบได้ดียิ่งขึ้น

ในขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำลังขัดจังหวะการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในหลายทาง รวมทั้งการจำกัดการเดินทางประจำวัน ซึ่งจำนวนมากเป็นการเดินทางเพื่อไปทำงาน โดยเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านเป็นทางเลือก ไปถึงขั้นการปิดบ้านปิดเมืองให้อยู่บ้านกันทั้งหมด  ในขณะที่คำแนะนำที่ให้กันออกมาทั่วไปมากที่สุดยังคงเป็นให้จำกัดการเดินทาง  การมีทางเลือกอื่นที่พึ่งได้และค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไปจึงมีความสำคัญในตอนนี้มากกว่าช่วงใดที่ผ่านมา  มหานครนิวยอร์คได้เพิ่มพื้นที่มากขึ้นให้จักรยานและผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลันไปสู่วิถีการเดินทางบนถนนที่ทำเป็นรายย่อยของปัจเจกชนแต่ละคนแทนการขนส่งมวลชนจำนวนมากไปด้วยกัน  เมืองโบโกตาในประเทศโคลอมเบียได้เพิ่มช่องทางจักรยาน รวม 76 กิโลเมตรในชั่วคืนเดียว เพื่อรองรับผู้ใช้จักรยานให้ได้มากขึ้น โดยที่ยังมีการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลไว้  นครอย่างเม็กซิโกซิตี้กับลอนดอนได้เห็นประโยชน์จากการใช้เวลาหลายปีสร้างขยายเครือข่ายการใช้จักรยานออกไป และขณะนี้กำลังจะทำให้มาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานต่างๆ ที่เดิมเป็นมาตรการชั่วคราวกลายเป็นมาตรการถาวร  มีเรื่องราวที่บอกเล่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปทุกแห่งถึงการที่ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนมาเป็นการใช้จักรยานและสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในที่ที่วิธีการเดินทางแบบนี้มีให้เลือก

การเปลี่ยนวิธีเดินทางเช่นนี้มีผลไม่เพียงแต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของ COVID-19 เท่านั้น หากมีผลต่อความยืดหยุ่นโดยรวมของเมืองๆ หนึ่งด้วย  ไม่ว่าจะเป็นการรับมือต่อการระบาดของโรค พายุที่รุนแรง คุณภาพอากาศที่เลวร้าย หรือผลอื่นๆ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเมืองต่างๆ ยังจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ต่อไปและต้องพยายามฝ่าผ่านความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นให้ได้  เพื่อให้เมืองเดินหน้าไป เราจำเป็นต้องมีทางเลือกทุกทางที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ที่แบ่งปันกันใช้ การเดิน และแน่นอน ไมโครโมบิลิตี้ที่กำลังเติบโตขึ้น ควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างความยืดหยุ่นของเมืองทุกเมืองด้วย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ได้สร้างให้เกิดการยอมรับถึงความสำคัญของหนทางรับมือสถานการณ์ รวมไปถึงการใช้จักรยานและไมโครโมบิลิตี้ ที่แม้จะดูเป็นวิธีการเล็กๆ แต่สามารถพาเราไปยังที่ต่างๆ ในเมืองได้อย่างปลอดภัยและยืดหยุ่น


ในเมืองต่างๆ ที่มีประชากรมากที่สุดของโลก การเดินทางส่วนใหญ่ทำด้วยการเดิน การใช้จักรยาน และขนส่งมวลชนอยู่แล้ว  ตัวอย่างเช่นเมืองจำนวนมากในอินเดียมีการเดินทางที่ทำด้วยรถยนต์น้อยกว่าร้อยละ 10  การยกระดับการให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ แก่วิธีเดินทางที่เป็นไมโครโมบิลิตี้ จะให้ทางเลือกที่เป็นพาหนะส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งกับผู้เดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันได้รับการบูรณาการเข้าไปกับวิธีเดินทางอื่นๆ และทุกคนสามารถจ่ายไหว

ไมโครโมบิลิตี้ คืออะไร
ไมโครโมบิลิตี้ (Micromobility) เป็นคำศัพท์คำหนึ่งที่คืบคลานเข้ามาเป็นภาษาที่ใช้กันเฉพาะในหมู่นักผังเมือง นักวางแผน และแม้กระทั่งในโลกเทคโนโลยี  อย่างไรก็ตามไม่มีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ชัดเจนว่า ไมโครโมบิลิตี้หมายความว่าอะไรจริงๆ  จากการปรึกษาหารือกับชุมชนขนส่งยั่งยืนในวงกว้าง ITDP ได้พัฒนานิยามของไมโครโมบิลิตี้ขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งอธิบายไมโครโมบิลิตี้ออกมาเป็น ครอบครัวของอุปกรณ์น้ำหนักเบาที่ให้ความเร็วในการใช้งานธรรมดาน้อยกว่า 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเหมาะกับการเดินทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร  ไมโครโมบิลิตี้อาจจะเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวหรือที่ใช้ร่วมกัน-แบ่งปันกันใช้ก็ได้ ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานของคนผู้ขับเคลื่อนเองก็ได้  อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ที่มีความเร็วสูงสุดเกินกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรืออุปกรณ์ที่ได้พลังงานมาจากเครื่องยนต์สันดาป(เผาไหม้)ภายใน ไม่ใช่ไมโครโมบิลิตี้   ตัวอย่างเช่นรถจักรยานยนต์และรถสกู๊ตเตอร์ใช้เครื่องยนต์ไม่ได้ถูกรวมไว้ในคำนิยามนี้  เนื่องจากอุปกรณ์ใหม่นี้จะขยายตัวต่อไป คำนิยามนี้จึงหมายให้ครอบคลุมวิธีการเดินทางทั้งในปัจจุบันและจะเป็นไปในอนาคต

เนื่องจากไม่มีคำนิยามที่เห็นชอบร่วมกันเป็นเอกฉันท์สำหรับไมโครโมบิลิตี้ เมืองต่างๆ จึงต้องดิ้นรนทำให้กฎระเบียบเป็นมาตรฐานใช้ได้กับวิธีการเดินทางหลายแบบ  องค์กรอย่างเช่นสมาคมเพื่อวิศวกรรถยนต์ (Society for Automotive Engineers – SAE) และเวทีขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Forum – ITF) ได้พัฒนาแนวทางการจัดประเภทสำหรับวิธีการเดินทางด้วยไมโครโมบิลิตี้แบบต่างๆ โดยใช้น้ำหนัก ความเร็ว และพลังงานที่ใช้ มาเป็นฐานในการพิจารณา  คำนิยามของ ITDP สร้างขึ้นมาบนความพยายามเหล่านี้ แต่ให้คำนิยามที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา สำหรับไมโครโมบิลิตี้ที่สามารถนำมาใช้และเข้าใจได้โดยผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ จำนวนมาก จากผู้กำกับดูแลเมืองไปจนถึงผู้สื่อข่าวและสาธารณชน  การมีคำนิยามที่ชัดเจนทำให้เมืองมีพลังขึ้น โดยเฉพาะเพื่อที่จะกำหนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า วิธีการเดินทางแบบไหนควรจะได้มาใช้โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างไว้ให้จักรยาน (ซึ่งคำตอบคือไมโครโมบิลิตี้ใดๆ ที่มีความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และที่ไม่ควรได้ใช้ (ซึ่งคำตอบคือ อุปกรณ์ที่ให้ความเร็วได้สูงไปกว่านั้นอย่าง moped หรือจักรยานที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนทั้งหมด ไม่ต้องถีบ-ปั่นแต่อย่างใด และจักรยานยนต์แบบที่เรารู้จักกันคือใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน)

แนวคิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นคือ ความคิดที่ให้ออกแบบช่องทางจราจรสำหรับ(พาหนะ)ขนส่งเบาเป็นรายคน (Light Individual Transport – LIT) ใช้ได้เฉพาะการเดินทางด้วยไมโครโมบิลิตี้มากขึ้น นอกเหนือจากจักรยาน  ช่องทาง LIT นี้แยกผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้ในทางกายภาพออกจากการจราจรด้วยยานพาหนะอื่นบนถนนและคนเดินบนทางเท้าข้างถนน สอดคล้องกับการมีทางเฉพาะสำหรับจักรยานหรือช่องทางจราจรของจักรยานที่ได้รับการปกป้อง (protected bicycle lane – PBL)  หลายเมืองในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งแอตแลนต้าและพอร์ตแลนด์ ได้รับเอาศัพท์นี้ไปใช้แล้ว และองค์กรอย่าง ITF ได้เรียกร้องให้มีรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ LIT ที่นิยามออกมาชัดเจนมากขึ้น

ในขณะที่เราทำสงครามสู้รบกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทางด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความปลอดภัยบนท้องถนน  เราไม่สามารถพลาดโอกาสนี้โดยไปให้ความสำคัญในลำดับแรกแก่การขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์ได้  นี่เป็นเวลาที่เมืองต่างๆ จะตอบสนองด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับไมโครโมบิลิตี้ และการทำให้พื้นที่บนถนนของเรารองรับการเดินทางด้วยไมโครโมบิลิตี้  นี่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ ไปกับการออกนโยบายมาทำให้ผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้จำนวนมากปลอดภัย และกระตุ้นให้คนมากขึ้นเปลี่ยนวิธีการเดินทางมาใช้ไมโครโมบิลิตี้


ในจีน เช่นเดียวกับอีกในชาติอื่นจำนวนมาก การใช้จักรยานได้กลายมาเป็นทางเลือกวิธีการเดินทางนับแต่เริ่มมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   อย่างไรก็ตาม ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับความต้องการของผู้ใช้ และคนจำนวนมากต้องขี่จักรยานร่วมผสมไปกับการจราจรทั่วไป

ทำไม micromobility ถึงสำคัญ?
เมืองต่างๆ มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นมากยิ่งขึ้นต่อไปตามการเติบโตดังที่มีการพยากรณ์ไว้  องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าประชากรโลกสองในสามจะเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองในปี พ.ศ. 2593 หรืออีกสามสิบปีข้างหน้า  นี่หมายความว่าคนจำนวนมากขึ้นในเมืองจะจำเป็นต้องเข้าถึงบริการการเคลื่อนที่เดินทางที่ยืดหยุ่น พึ่งพาได้ และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป-พวกเขาจ่ายไหว สำหรับการเดินทางแบบต่างๆ จำนวนมาก  เรารู้แล้วว่าเมืองไม่มีพื้นที่พอในการเคลื่อนและเก็บรถยนต์ส่วนตัวสำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ทุกคน และการจราจรติดขัดทำให้การขับรถยนต์ส่วนตัวสามารถแข่งขันกับวิธีการเดินทางอื่นได้น้อยลงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน  นี่ไม่ต้องพูดถึงการคุกคามต่อความปลอดภัยและคุณภาพอากาศที่รถยนต์มีต่อทุกคน

เมืองต้องคิดใหม่ถึงภูมิทัศน์ถนนของตนเพื่อปรับให้เข้ากับความต้องการในการเดินทางที่กำลังเปลี่ยนไปของผู้อยู่อาศัย ซึ่งหมายถึงการสร้างพื้นที่ใช้งานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ นั่นคือคนเดินเท้าและคนที่ใช้ไมโครโมบิลิตี้  เมื่อคำนึงว่าการเดินทางในเมืองส่วนใหญ่มีระยะทางน้อยกว่าห้ากิโลเมตร ไมโครโมบิลิตี้จึงเป็นโอกาสที่สมบูรณ์แบบให้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างรวดเร็ว เป็นอิสระ และที่สำคัญที่สุด ไม่สร้างและปล่อยมลพิษที่เป็นอันตราย  ความนิยมในหมู่ผู้ใช้ระเบิดขยายตัวพรวดพราดในช่วงสองปีที่ผ่านมา และระบบจักรยานกับสกู๊ตเตอร์แบ่งปันกันใช้มีผู้ใช้เพิ่มเป็นสองเท่าในช่วงปีที่ผ่านมา  การเติบโตของผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้ได้กระตุ้นให้มีการเรียกร้องอีกครั้งมากขึ้นให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยที่ทำให้การจราจรสงบลงและแยกผู้เดินทางที่ไม่ได้ใช้ยานพาหนะ(รถยนต์) จากยานพาหนะและคนเดินเท้า   ITDP เสนอแนะว่า ถนนที่มีความเร็วของยานพาหนะสูงกว่าคือมากถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจำนวนยานพาหนะมากกว่า ให้มีช่องทางจักรยานหรือ LIT ที่ได้รับการป้องกันสำหรับผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้ ถนนที่ไม่มีช่องทางที่ได้รับการป้องกันควรเป็นถนนที่มีความเร็วต่ำ โดยจำกัดความเร็วของยานพาหนะไว้ที่ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน เช่น ทางหลวงจักรยาน (cycle highway) และที่จอดที่จัดไว้ให้เป็นการเฉพาะ ทำให้มีสภาพที่ปลอดภัยมากกว่าและสะดวกมากกว่าสำหรับผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้

ในขณะที่ไมโครโมบิลิตี้เติบโตและวิวัฒนาการต่อไป เมืองจะจำเป็นต้องสนับสนุนวิธีการเดินทางประเภทนี้ด้วยระเบียบวาระที่ก้าวหน้าและนโยบายการคิดไปข้างหน้า  ไมโครโมบิลิตี้อยู่บนเส้นทางที่จะกลายเป็นวิธีการขนส่งที่มีคาร์บอนต่ำ ปลอดภัย และเป็นที่นิยม ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และหลังจากนั้น

ความเป็นจริงใหม่ที่เราพบว่าตัวเองเข้าไปอยู่นี้ เป็นโอกาสให้เปลี่ยนแปลงการคิดที่มีอยู่ในปัจจุบันถึงวิธีที่คนเดินทางไปไหนมาไหน และการให้ความสำคัญอันดับต้นๆ กับการจัดพื้นที่ในเมืองของเราให้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ใช่หนทางไปข้างหน้าที่ยืดหยุ่นอีกต่อไป
———————————————————————————————–
ข้อความในภาพWHAT IS MICROMOBILITY? ไมโครโมบิลิตี้ (Micromobility) คืออะไร

ไมโครโมบิลิตี้ (micromobility) หมายถึงอุปกรณ์ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ที่ทำให้เดินทางได้ด้วยความเร็วโดยทั่วไปต่ำกว่า 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (15 ไมล์ต่อชั่วโมง) และเป็นสิ่งที่ดีเลิศสำหรับการเดินทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร

ไมโครโมบิลิตี้อาจ: Micromobility can be:- ใช้แรงคนหรือไฟฟ้า- เป็นอุปกรณ์ส่วนตัวหรืออุปกรณ์ที่แบ่งปันกันใช้- โดยทั่วไปที่สุดมีความเร็วต่ำ (ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) หรือบางครั้งมีความเร็วปานกลาง (ความเร็วสูงสุด 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ไมโครโมบิลิตี้ไม่อาจ: Micromobility cannot be:- ได้พลังจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน- มีความเร็วสูง (ความเร็วสูงสุดเกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ไมโครโมบิลิตี้เพิ่มการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ Micromobility increases access to public transportation- ใช้แทนรถยนต์สำหรับการเดินทางระยะสั้น

คนส่วนใหญ่ในเมืองไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ ไมโครโมบิลิตี้คลายล็อคเมืองมากขึ้นให้คนมากขึ้น

อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทำให้ไมโครโมบิลิตี้น่าสนใจสำหรับคนที่อาจไม่ได้ใช้พาหนะสองล้อหรือสามล้อมาแต่เดิม ไมโครโมบิลิตี้ไฟฟ้าขยายพื้นที่ที่ผู้ขับขี่สามารถเดินทางไ.ปได้อย่างง่ายดายโดยไม่มีรถยนต์

WHERE CAN MOBILITY GO?   ไมโครโมบิลิตี้ไปไหนได้บ้าง?
Safe “micromobility corridors” ฉนวนไมโครโมบิลิตี้ทำให้คนจำนวนมากขึ้นเข้าถึงสถานที่ได้มากขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน

1. Protected Bicycle Lanes (PBLs) ช่องทางจักรยานที่ได้รับการป้องกัน ซึ่งขณะนี้เรียกกันมากขึ้นว่า ช่องทางขนส่งเบาเป็นรายคน (Light Individual Transport หรือ LIT) แยกผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้ออกจากยานพาหนะและคนเดินเท้า  PBLs ควรจะได้รับการออกแบบให้รองรับได้ทั้งไมโครโมบิลิตี้ที่ใช้ไฟฟ้าและไม่ใช้ไฟฟ้า (กว้างอย่างน้อย 2 เมตรสำหรับช่องทางที่มีการเคล่อนที่ไปทางเดียว และ 2.5 เมตรสำหรับช่องทางให้เคลื่อนที่ไปได้สองทาง  อนุญาตเฉพาะอุปกรณ์ที่มีความเร็วต่ำเท่านั้น

2. Cycle Highways ทางหลวงจักรยาน เสริมช่องทางที่ได้รับการป้องกันในเมืองด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาสำหรับการเดินทางด้วยไมโครโมบิลิตี้ไปในระยะทางไกลกว่า เช่น ระหว่างศูนย์กลางชุมชนที่เป็นเพื่อนบ้านกัน  อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ไมโครโมบิลิตี้ได้ทุกอย่าง

3. Slow Streets ถนนช้า (จำกัดความเร็วยานพาหนะ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตั้งจำกัดความเร็วไว้ให้ช้าสำหรับถนน โดยเฉพาะถนนที่ไม่มีช่องทางที่ได้รับการป้องกันที่ผู้ใช้ไมโครโมบิลิตี้จะขับขี่ไปในช่องทางที่ไม่ได้รับการป้องกันหรือในกระแสการจราจรที่มีวิธีการเดินทางหลายอย่างผสมกันไป

4. Primary Streets ถนนแบบเดิม (จำกัดความเร็วยานพาหนะไว้มากถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)  ถนนที่มีการจำกัดความเร็วไว้สูงกว่าและมีปริมาณการจราจรสูงกว่า ควรมีช่องทาง LIT ที่ได้รับการป้องกัน  อุปกรณ์ที่มีความเร็วปานกลางควรควบคุมความเร็วตนเองไว้ต่ำกว่า 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ไปใช้ช่องทางที่ได้รับการป้องกัน หรือควรขี่ในถนน

Supportive Policies and Structures  นโยบายและโครงสร้างที่สนับสนุน
ที่จอดที่กำหนดไว้: รองรับไมโครโมบิลิตี้ทุกชนิดและเอาอุปกรณ์เดินทางเหล่านี้ออกไปจากทางที่เป็นสิทธิ์ของคนเดินเท้า
บังคับใช้กฎระเบียบ: จักรยานยนต์และอุปกรณ์ที่มีความเร็วสูงอื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในช่องทางที่ได้รับการป้องกัน

Print Friendly, PDF & Email