Home สิ่งที่เราทำ ผลักดันระดับประเทศ จักรยานวันนี้ โลกไปถึงไหน ไทยทำอะไร


ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและสถาบันการเดินและการจักรยานไทย อุ่นเครื่องเปิดตัวการจัดงาน “วันจักรยานโลก” (World Bicycle Day) 3 มิถุนายน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้มีวันสากลประจำปีนี้ที่รัฐสมาชิกทั้งหมดทั่วโลกเกือบ 200 รัฐ จะเฉลิมฉลองด้วยกัน ด้วยการจัดสัมมนา “จักรยาน: โลกไปถึงไหน ไทยทำอะไร” ขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 1 ของ Bangkok Tower ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนของผู้ใช้จักรยานกลุ่มต่างๆ กับองค์กรที่ส่งเสริมการใช้จักรยาน ราว 100 คน รวมทั้ง อาจารย์ปรีชา พิมพ์พันธ์ กับ รศ.ดร.ประทุม ม่วงมี คนไทยคนแรกและคนที่สองที่ขี่จักรยานรอบโลกเมื่อ 60 และ 50 ปีก่อน เข้าร่วม

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายฉายภาพของ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมฯ และสถาบันฯ ให้เห็นว่า โลกไปถึงไหนกันแล้วในเรื่องการใช้จักรยาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของการใช้จักรยานกับสภาพต่างๆ ของสังคม ซึ่งเป็นเหตุให้การใช้จักรยานมากๆ โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน มีส่วนสำคัญในการที่สังคมน่าอยู่และยั่งยืน และในที่ต่างๆ มีการจัดระบบและโครงสร้างพื้นฐานมาเอื้ออำนวยให้ใช้จักรยานไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก สบาย และปลอดภัย กันอย่างไรบ้าง ทำให้คนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นๆ ซึ่งด้านหนึ่งก็ก่อผลดีมากมาย อันนำไปสู่การที่รัฐสมาชิกทั้งมวลของสหประชาชาติเห็นชอบให้มีวันเฉลิมฉลองเครื่องจักรมหัศจรรย์นี้ แต่อีกด้านก็เริ่มเกิดปัญหาการจอดจักรยานสาธารณะแบบจอดที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องนำไปจอดที่สถานีที่จัดไว้ ทิ้งไว้มากมายเกลื่อนกลาดเกะกะรกรุงรังบ้านเมืองอย่างที่เกิดขึ้นในจีน (ดูรายละเอียดในข่าว “อันว่าเรื่องจักรยานนี้ โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว)

จากนั้นคุณกวิน ชุติมา เหรัญญิกของสถาบันฯ ได้มาสรุปให้ฟังว่า วันจักรยานโลกคืออะไรและเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ย้อนกลับไปตั้งแต่การที่ชมรมฯ ตระหนักว่า การจะผลักดันให้มีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้ได้ผลมากขึ้นต้องเข้าร่วมกับผู้ที่คิดที่ทำเช่นเดียวกันในที่อื่นๆ ของโลก จึงเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ในปี 2555 และปีต่อมาได้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA) จากนั้นประธานชมรมฯ ก็ได้เสนอ WCA/ECF ให้เคลื่อนไหวให้มี “วันการจักรยานโลก” (World Cycling Day) ขึ้น ซึ่ง WCA/ECF รับลูก มีการทำเอกสารส่งถึงสหประชาชาติในปี 2558 ชี้ให้เห็นว่าจักรยานมีส่วนโดยตรงในการทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SFDGs) ของสหประชาชาติถึง 12 จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย และเริ่มใช้เครือข่ายเคลื่อนไหวให้มีวันจักรยานโลกขึ้น โดยผู้มีบทบาทสำคัญคือ ศ. เลสเซ็ค สิบิลสกี จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำหลายช่องทาง ทั้งใช้นักศึกษารณรงค์ เขียนบทความ และไปพูด ผลักดันรณรงค์ให้ความรู้ผ่านหลายเวที รวมทั้งการประชุมธนาคารโลก และเวทีเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

ในที่สุดประสบความสำเร็จในการขอให้อัครราชทูตของประเทศเตอร์กเมนิสถานเป็นผู้เสนอร่างมติให้รัฐสมาชิกของสหประชาชาติรับรอง ซึ่งสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2561 ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันจักรยานโลก” เป็นวันสากลอีกวันหนึ่งที่รัฐสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งขณะนี้มีเกือบ 200 รัฐ นำไปเฉลิมฉลองให้เห็นความสำคัญเช่นเดียวกับวันสากลอื่นๆ เช่น วันสตรีสากล วันสิ่งแวดล้อมโลก วันเอดส์โลก วันสิทธิมนุษยชนสากล เป็นต้น มติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาตินี้ นอกจากประกาศให้มีวันจักรยานโลกขึ้น ให้มีการเฉลิมฉลองแล้ว ยังเรียกร้องและกระตุ้นให้รัฐสมาชิก รวมทั้งไทย องค์การของสหประชาชาติทั้งหลาย และทุกภาคส่วนของทุกสังคม ให้ความสนใจต่อจักรยานในยุทธศาสตร์การพัฒนา รวมจักรยานไว้ในนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ทุกระดับ ตั้งแต่ระหว่างชาติถึงท้องถิ่น ให้การใช้จักรยานเป็นวิธีส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการใช้จักรยานในหมู่สมาชิกทุกคนในสังคม และปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน (ดูคำแปลมติของสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติฉบับเต็ม)

เมื่อได้ปูพื้นฐานในเห็นสถานะของการใช้จักรยานในโลกขณะนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่การเคลื่อนไหวให้ประชาคมโลกยอมรับของความสำคัญของจักรยาน จนเกิดเป็นมติของสหประชาชาติประกาศให้มีวันจักรยานโลกแล้ว การประชุมก็ได้เข้าสู่ช่วงสำคัญคือ การเสวนา “อันเรื่องจักรยานนี้ : ไทยต้องทำอะไรบ้าง” โดยในช่วงแรกเป็นการอภิปรายบนเวทีก่อนให้ผู้อภิปรายบอกเล่าปัญหาและความต้องการของผู้ใช้จักรยานกลุ่มต่างๆ โดยมีตัวแทนผู้ใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงาน ตัวแทนชุมชนคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตัวแทนผู้ใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ตัวแทนประชาคมนักวิชาการที่ทำวิจัยผู้ใช้จักรยานประกอบอาชีพ และตัวแทนผู้ใช้จักรยานในการเดินทางท่องเที่ยวทางไกล จากนั้นก็ได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมเสวนา เพื่อระดมความเห็นมาสรุปนำไปเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ในไทยต่อไป (ดูรายละเอียดในข่าว “อันเรื่องจักรยานนี้ เราในไทยต้องทำอะไรกันบ้าง”)

ในช่วงท้ายของกิจกรรม อาจารย์ธงชัยได้เชิญอาจารย์ปรีชากับอาจารย์ประทุมขึ้นไปปรากฏตัวบนเวที ให้อาจารย์ปรีชา วัย 83 ปี ในฐานะผู้ใหญ่ที่ได้บุกเบิกและสร้างแรงดลใจให้คนไทยจำนวนมากมาขี่มาใช้จักรยาน อวยพรผู้เข้าร่วมทุกคน
อาจารย์ธงชัยย้ำว่า ไทยเป็นสังคมจักรยานได้ถ้าพวกเราทุกคนมาช่วยกัน เราจะทำให้เกิด “จักรยานเพื่อทุกคน ทุกคนเพื่อจักรยาน” Bike for All & All for Bike โดย “เรามาช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีไปด้วยกัน” และฝากไว้ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” No One Left Behind ก่อนชวนทุกคนไปร่วมขี่จักรยานรณรงค์ไปตึกสหประชาชาติในวันที่ 3 มิถุนายน 2561 ด้วยกัน

รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการเหรัญญิกมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email