Home สิ่งที่เราทำ ผลักดันระดับประเทศ สถาบันฯ เดินหน้าร่วมกับ อพท. ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยจักรยาน
สถาบันฯ เดินหน้าร่วมกับ อพท. ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยจักรยาน


องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. (DASTA) มีแนวคิดชัดเจนในการส่งเสริมให้การใช้จักรยานเป็นวิธีหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เมื่อสองปีก่อน อพท. พื้นที่พิเศษที่ ๓ หรือ อพท.๓ ซึ่งดูแลการดำเนินงานของ อพท. ในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้มาติดต่อสถาบันการเดินและการจักรยานไทยไปทำงานด้วยกัน โดยให้สถาบันฯดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยวชุมชนนาเกลือ เมืองพัทยา” มาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๑ และจากนั้นก็ได้เชิญสถาบันฯ มาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ตามที่ได้รายงานข่าวไปเป็นระยะนั้น

ที่ผ่านมา อพท. ๓ ได้เชิญสถาบันฯ มาร่วมกิจกรรมทดลองและประเมินการจัดการท่องเที่ยวที่รวมการเดินทางด้วยรถไฟกับจักรยานเข้าด้วยกัน ซึ่งตรงกับแนวงานการส่งเสริมการใช้จักรยานของสถาบันฯ สถาบันฯ จึงให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดย อพท.๓ ใช้พื้นที่รอบๆ เมืองพัทยาเป็นพื้นที่ทดลอง ในวันที่ ๔-๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา อพท. ๓ ได้จัดกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่ ๒ ในชื่อ Train to Bike Style Low Carbon 2019 หรือ “ปั่นเที่ยวสุขใจไปกับ อพท. ๓ ทานหมด งดขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม” เอาจักรยานขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปขี่จักรยานท่องเที่ยว โดยในครั้งนี้เน้นให้การท่องเที่ยวเป็นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังตามชื่อกิจกรรม โดยนอกจากสถาบันและนักจักรยานกลุ่มต่างๆ แล้ว ได้เชิญองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาร่วมในการวัดอย่างเป็นระบบด้วยว่า วิธีการจัดท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ตั้งแต่การใช้รถไฟผสมกับการใช้จักรยานในการเดินทาง การหลีกเลี่ยงหรือลดการสร้างขยะตลอดกระบวนการ การปลูกต้นไม้ ฯลฯ มีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ ได้อย่างไร แค่ไหนบ้าง ทำให้เป็นการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ที่มีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เราได้ร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้แค่ไหน


ในวันแรก ขบวนจักรยานได้ไปเที่ยวชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๖๐ ชุมชนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ที่สถาบันฯ ดำเนินการให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อเนื่องมาเป็นปีที่สามเป็นสำคัญ ทำให้ได้เห็นศักยภาพในการจัดการให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการมาเที่ยวชุมชนที่นี่ด้วยจักรยาน จุดแข็ง-จุดอ่อน และช่องทางในการปรับปรุงให้ทำได้ดีขึ้น รวมทั้งการเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น และการใช้การท่องเที่ยวด้วยจักรยานของคนภายนอกมาช่วยส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชุมชนด้วย ในวันที่สองเป็นการขี่จักรยานท่องเที่ยวไปตามจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอำเภอบางละมุงและสัตหีบ เช่น อ่างเก็บน้ำมาบประชัน พิพิธภัณฑ์พรประภา ชุมชนชากแง้ว สวนผักไฮโดรโปนิก วัดญาณสังวราราม เขาชีจรรย์ ไปปลูกต้นไม้และพักค้างคืนที่ป่าสิริเจริญวรรษ ซึ่งถนนในบริเวณนี้หลายช่วง อพท.๓ได้ร่วมกับกรมทางหลวงชนบทจัดทำทางจักรยานไว้อย่างชัดเจน ทั้งโดยการจัดทำเป็นช่องทางจักรยานบนพื้นที่ถนนและทำแยกจากถนนออกมา มีป้ายบอกทางอย่างดี และในวันที่สามเป็นการขี่จักรยานตามเส้นทาง ๑๘ กิโลเมตรรอบป่าที่สร้างขึ้นมาและดูแลเป็นอย่างดีสำหรับการขี่จักรยานเป็นการเฉพาะ ซึ่งได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการมีเส้นทางจักรยานอีกแห่งที่เหมาะอย่างยิ่งกับการฝึกฝนขี่จักรยาน และการเป็นแนวกันชนล้อมป่าป้องกันการบุกรุกอย่างได้ผล


ล่าสุดเมื่อบ่ายวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อพท.๓ ได้ขอให้สถาบันฯ ไปร่วมต้อนรับและให้แนวคิดแก่แกนนำชุมชนในเขตอำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่ อพท.ทำงานด้วยและมาดูงานการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งด้วยการใช้จักรยาน ในพื้นที่ อพท.๓ โดยในช่วงแรกเป็นการบรรยายพูดคุยที่สำนักงาน อพท.๓ ใกล้บ้านนาเกลือ จากนั้นผู้มาดูงานได้ออกไปขี่จักรยานดูสภาพจริงในบริเวณชุมชนนาเกลือและพื้นที่ข้างเคียงด้วย

รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

 

Print Friendly, PDF & Email