Home ข้อมูลความรู้ บทความ มุมมองของนักออกแบบชุมชนเมืองกับการปรับเปลี่ยนย่านบำรุงเมืองเพื่อคนเดิน

มุมมองของนักออกแบบชุมชนเมืองกับการปรับเปลี่ยนย่านบำรุงเมืองเพื่อคนเดิน

มุมมองของนักออกแบบชุมชนเมืองกับการปรับเปลี่ยนย่านบำรุงเมืองเพื่อคนเดิน

ปิยา ลิ้มปิติ รองผู้อำนวยการศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนึ่งในทีมนักออกแบบที่มาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในย่านบำรุงเมือง ในโครงการ เดินสบาย ปั่นปลอดภัย สัญจรทางเลือก เมืองสุขภาพดี

“สำหรับเมืองคือพื้นที่คนหลากหลายมาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น การออกแบบสภาพแวดล้อมของเมืองและระบบของเมืองให้สามารถปรับเปลี่ยนและรองรับความต้องการที่หลากหลายจึงเป็นเรื่องจำเป็น การส่งเสริมการสัญจรทางเลือกเพื่อคนเดิน คนปั่น จึงต้องอาศัยการแบ่งปันพื้นที่กับการสัญจรทางรถ โครงการนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับคนเดินคนปั่น โดยศึกษาแนวทางในการออกแบบ Global Street Guideline ซึ่งถือเป็นแนวทางการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากล หลักการในการออกแบบปรับปรุงเส้นทางเพื่อการสัญจรทางเลือกมุ่งเน้นไปที่ 3 หลักการ ได้แก่ การเข้าถึงได้ง่าย ความสะดวกและความปลอดภัย

ออกแบบเมืองต้อง รู้จักและเข้าใจ วิถีชีวิตเดิมเป็นทุน
“ในย่านบำรุงเมืองเป็นเมืองเก่าที่มีข้อดี เพราะมีโครงข่ายเส้นทางที่พรุน คือ มีถนนหลักและรองแบ่งบล็อกในระยะเดิน มีจุดตัดถนนที่ไม่ไกลกันมาก เข้าถึงในพื้นที่ง่าย แต่ข้อจำกัดหนึ่งคือถนนค่อนข้างแคบ การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงการแบ่งปันพื้นที่เส้นทางให้ทั้งรถและคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีการแชร์พื้นที่กันได้

ถนนแต่ละเส้นต่างมีการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ถนนพาณิชยกรรม (Commercial Street) ที่มีกิจกรรมการใช้งานริมทางหลากหลาย ต้องการที่จอดรถเพื่อเข้าไปสู่ร้านค้าได้สะดวก เช่น ถนนมหรรณพ ถนนสำราญราษฎร์ การปรับปรุงเส้นทางจึงเน้นจัดระบบที่จอดรถให้ชัดเจนและแบ่งปันพื้นที่จอดรถบางส่วนให้กับกิจกรรมริมทาง ส่วนถนนที่มีการเปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Street) โดยเฉพาะเส้นที่เชื่อมต่อจากเมืองเก่าไปสู่เมืองใหม่ การปรับปรุงเส้นทางจะมุ่งเน้นให้มีการสัญจรที่สะดวก ไม่เน้นการจอดรถริมทาง เช่น ถนนดินสอ เป็นต้น”

ความคาดหวัง
“ถือเป็นมิติที่ดีที่เมืองให้ความสำคัญกับคนเดินมากขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการออกแบบเมืองว่าควรสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสามารถมีช่วงทดลองก่อนดำเนินการแบบถาวรได้ ก่อนการออกแบบเราศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ผ่านการลงพื้นที่คุยกับชุมชนและร้านค้าในละแวก ในช่วงทดลองปรับเปลี่ยนพื้นที่ 3 เดือนนี้ เราจะได้เห็นพฤติกรรมการใช้งานของคนว่าเขาสัญจรผ่านและใช้งานพื้นที่อย่างไร คนจะเลือกออกมาเดินมากขึ้นตามความตั้งใจของการออกแบบหรือไม่ และมีสิ่งที่ควรปรับปรุงก่อนการดำเนินการแบบถาวรต่อไป

Print Friendly, PDF & Email