Home ข้อมูลความรู้ บทความ เดินสบาย ปั่นปลอดภัย ชีวิตใหม่ของย่านบำรุงเมือง

เดินสบาย ปั่นปลอดภัย ชีวิตใหม่ของย่านบำรุงเมือง

เดินสบาย ปั่นปลอดภัย ชีวิตใหม่ของย่านบำรุงเมือง

อีกไม่นานคนในย่านบำรุงเมืองอาจจะแขวนกุญแจรถและมอเตอร์ไซค์ไว้ที่บ้าน แล้วเดินและปั่นจักรยานเพื่อไปกินข้าว ทำธุระ หรือไปต่อขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น เพราะกำลังจะมีโครงการ “เดินสบาย ปั่นปลอดภัย” มาเปลี่ยนถนนแถบบำรุงเมืองให้เดินและปั่นอย่างสะดวกมากขึ้น

คุณศิลป์ ไวยรัชพานิช ผู้จัดการโปรเจ็กต์นี้ จะเป็นคนมาเล่าให้ฟังว่า “เดินสบาย ปั่นปลอดภัย” เป็นโครงการคืออะไร และจะส่งผลดีต่อคนในชุมชนและถนนที่ใช้ถนนในย่านบำรุงเมืองอย่างไร

เดินสบายปั่นปลอดภัย คืออะไร ?


“เนื่องจากในปี 2564 กรุงเทพฯ ได้จากทุนมูลนิธิบลูมเบิร์ก (Bloomberg Philanthropies) เพื่อสร้าง ‘เครือข่ายเมืองที่มีสุขภาพดี (Partnership for Healthy Cities)’ เราก็พัฒนาเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้ประชาชนให้มีสุขภาพดี ห่างจากการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) และอุบัติเหตุบนถนน นั่นก็คือโครงการ ‘เดินสบาย ปั่นปลอดภัย’ ขึ้นมาครับ”

“โครงการนี้คือการเลือกพื้นที่ทดลองส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯ มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นด้วยการเดินทางโดยการเดินและใช้จักรยาน แทนการใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เพราะสาเหตุหนึ่งที่คนไม่ค่อยเดินหรือปั่นเพราะเขารู้สึกว่าถนนในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยเอื้อ เช่น บางเส้นไม่มีฟุตบาท คนก็ต้องลงไปเดินร่วมกับรถยนต์บนถนน หรือบางเส้นห้ามจอด แต่ก็มีรถจอด ทำให้ปั่นจักรยานบนไหล่ทางไม่ได้ โครงการนี้จึงเป็นการปรับปรุงฟุตบาทและถนนเพื่อให้คนสะดวก ปลอดภัย ในการเดินและปั่นจักรยานมากขึ้น”

“จากที่เมื่อก่อนตอนเย็นเราต้องขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อไปออกกำลังในยิม เพื่อไปวิ่งบนลู่ ลองนึกกลับกัน ถ้าเราเอาเวลานั้นมาทำให้มันเป็นประโยชน์เลยล่ะ ด้วยการเปลี่ยนจากใช้รถหรือมอเตอร์ไซค์มาเป็นการเดินทางที่แอ็กทีฟ อย่างเช่นเดินออกจากบ้าน ไปขึ้นรถไฟ หรือใช้จักรยาน แบบนี้เราก็แทบไม่ต้องไปยิมเลย เพราะมีการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว”

ทำไมต้องเป็น “บำรุงเมือง” ?

“สาเหตุที่เราเลือกพื้นที่ย่าน ‘บำรุงเมือง’ มาเป็นพื้นที่ทดลอง เพราะตรงนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่ประชากรลดลงทุกปี จากการลงพื้นที่ไปคุยกับคนในชุมชน พบว่าในย่านนี้ส่วนใหญ่ปัจจุบันเหลือแต่ผู้สูงอายุ ขณะที่เด็กๆ หรือคนวัยทำงานเขาย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่พ่อแม่เขาไม่ได้ย้ายไปด้วย ทำให้ย่านนี้เป็นย่านที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ พอเป็นผู้สูงอายุก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในโรค NCDs ขึ้นไปอีก”

“อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ย่านนี้เป็นย่านที่มีสัณฐาน (รูปทรง) ของเมืองที่เหมาะแก่การส่งเสริมเรื่องของการเดินและใช้จักรยาน เนื่องจากผังของย่านมีลักษณะเป็น Grid อยู่แล้ว (ลักษณะคล้ายตาราง) และเป็นย่านที่กระชับ มีสถานที่สำคัญอยู่ครบ มีทั้งโรงเรียน วัด ตลาด สถานที่ราชการที่สำคัญ แปลว่าผู้คนสามารถใช้ชีวิตครบวงจรได้ในย่าน มันเลยเหมาะเจาะว่าทำไมเราเลือกจุดนี้”

ข้อดีอีกอย่างคือโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านบำรุงเมือง เพราะจากหลักวิชาการที่เรารวบรวมมา พบว่าถนนที่ยิ่งมีคนเดินเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสเข้าร้านเยอะกว่าคนที่ขับรถยนต์ ร้านอาหารและบริการต่างๆ ในพื้นที่ก็น่าจะคึกคักขึ้นครับ”

การพัฒนามาจากเสียงชุมชน

“เริ่มต้นเราก็ไปสำรวจชุมชน ไปทำประชุมเชิงปฏิบัติการกับชุมชนทั้ง 5 ชุมชนในย่านนั้น สอบถามความคิดเห็นของคนในชุมชนว่า ในพื้นที่ของเขามีส่วนไหนที่ไม่สะดวก ไม่สบายต่อการเดิน การปั่นจักรยาน แล้วให้คนในชุมชนเลือกว่าอยากจะเห็นการปรับปรุงถนนเส้นไหนในย่านของเขา”

“สรุปจุดที่ปรับปรุงออกมาเป็นทั้งหมด 6 จุด ก็คือถนน 6 เส้นกับ 1 แยก คือถนนบำรุงเมือง ถนนมหรรณพ ถนนตะนาว ถนนราชบพิธ ถนนสำราญราษฏร์ ถนนดินสอ และแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า”

“การปรับปรุงที่จะเกิดขึ้นคือการปรับปรุงเชิงกายภาพของทางเท้าและถนน เช่น ขยายทางเท้าให้กว้างขึ้นด้วยการทาสีถนน ทาสีถนนในจุดเลี้ยวรถบริเวณแยกให้แคบลง เพื่อให้คนเดินถามถนนในระยะที่สั้นลง คนเดินจะปลอดภัยมากขึ้น หรือสร้างสวนขนาดเล็กเท่ากับพื้นที่จอดรถ 1 คัน (Pocket Park) ในบางจุด เป็นต้นครับ”

“ยกตัวอย่างเช่นอย่างแยกสี่กั๊ก เป็นจุดที่เขาจะต้องสัญจรข้ามไปมาตลอด แต่ก่อนมันเคยเป็นวงเวียน แล้วเขาก็ยกเลิกวงเวียนทำเป็นสี่แยก เพราะต้องการระบายรถจากถนนอัษฎางค์ให้เร็วที่สุด ทีนี้ปัญหาก็คือพอรถวิ่งเร็วก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชะลอรถที่ผ่านแยกให้ช้าลง คนจะข้ามถนนอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้น ด้วยการยกเลิกไฟแดง แล้วก็ตีเป็นวงเวียนเหมือนเดิม”

“ส่วนพื้นที่ตลอดวงด้านนอกจากเดิมเป็นที่จอดรถก็จะปรับให้เป็นทางเดิน แล้วทำทางม้าลายให้ครบทั้ง 4 ด้าน จะทำให้การเดินบริเวณนี้มันรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น รู้สึกรื่นรมย์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทางชุมชนเขาเรียกร้องกันมา”

Next Step

“ขั้นต่อไปเราจะทำแคมเปญเข้าไปรณรงค์ในพื้นที่ราชการต่างๆ เราก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับชุมชนและคนที่ใช้พื้นที่ผ่านทางบอร์ด ผ่านทางป้าย และสื่อสารผ่าน Social Media เพื่อบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงถนนแบบนี้”

“ต้องบอกว่าทุกอย่างในโปรเจ็กต์นี้จะเป็นการทำแบบชั่วคราว จะไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับการก่อสร้างเลย ตัวกายภาพของถนนยังเหมือนเดิม สิ่งที่เราทำก็คือแค่ขีดสีตีเส้น ตั้งกระถาง วางกรวย วางราว อะไรแบบนี้เท่านั้น เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะเราทำเพื่อทดลองว่าทุกอย่างที่ปรับไปจะส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตคนในชุมชนยังไง ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนที่ใช้ถนนในย่านนี้ยังไง

โครงการนี้จะใช้เวลา 3 เดือน และจะมีการเก็บข้อมูลตลอด ซึ่งสุดท้ายหากชุมชนหรือผู้ใช้เส้นทางรู้สึกว่าตรงไหนไม่เวิร์กก็จะลบไป หรือคนที่มาใช้ถนนในย่านนี้เขาพึงพอใจ เราก็จะเอาผลสรุปในโครงการทำการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรต่อไปครับ”

Print Friendly, PDF & Email