เดินสบาย ปั่นปลอดภัย

ในมุมมองของ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

โครงการ “เดินสบาย ปั่นปลอดภัย” ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อทดลองปรับทางเท้าและถนนให้เอื้อต่อการเดินและจักรยานของคนย่านบำรุงเมืองนั้น อยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เราจึงอยากฟังมุมมองของคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนานี้ ว่ารองพ่อเมืองคนนี้คิดอย่างไรจึงให้สนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างดี

การสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร
“ ‘เดินสบาย ปั่นปลอดภัย’ เป็นโครงการที่ภาคประชาสังคม คือมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยดำเนินการเป็นหลัก เป็นโครงการที่ใช้ข้อมูลจากการสำรวจ ใช้ข้อมูลเชิงสถิติ เชิงวิทยาศาสตร์มาสร้างแผนงาน ทีมทำงานค่อนข้างจะแอ็คทีฟกันอยู่แล้ว กทม. จึงยินดีเป็นผู้สนับสนุน โดยเฉพาะสำนักจราจรและขนส่งที่เข้ามาช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประสานกับกลุ่มชุมชนที่อยู่บริเวณรอบๆ เพราะการปรับเรื่องการเดินทาง คนที่กระทบที่สุดคือคนในชุมชนครับ”

ผลดีต่อเมืองถ้ามีคนเดินและปั่นมากขึ้น
“ผมว่าเรื่องเดินกับจักรยานหรือการสัญจรด้วยแรงกาย เป็นสิ่งที่เมืองทุกเมืองที่น่าอยู่เขาใช้กันหมด มันช่วยให้เราได้ขยับร่างกาย ได้เหงื่อออก การเดินและปั่นมันเป็นพื้นฐานทำให้ร่างกายดี และไม่ใช่ดีเฉพาะคนที่เดินทางแบบนี้เท่านั้น แต่ดีต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะเวลาเราเดิน เราได้แวะซื้อจับจ่ายใช้สอยกับร้านที่ตั้งอยู่ข้างทาง แล้วยังดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ตรงที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ”

“อีกอย่างการเดินและการปั่นมันทำให้เมืองดูมีชีวิตนะ ถ้าให้นึกภาพทางม้าลายที่คนเดินเยอะที่สุด เราจะนึกถึงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือเวลาพูดถึงเมืองที่มีจักรยานเยอะๆ ก็นึกถึงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ ผมว่าเมืองแบบนี้น่าอยู่ ดูมีชีวิต ในอนาคตทุกเมืองที่กำลังปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาเมืองจะมาทางนี้กันหมด ผมว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ”

ผลลัพธ์ที่อยากเห็น
“จริงๆ ตอนนี้ กทม. ก็ทำคล้ายกับที่ ‘เดินสบาย ปั่นปลอดภัย’ จะทำ ตอนนี้ในหลายเขตเราเริ่มทำ Street Diet แล้ว มันคือการลดขนาดถนนและมาเพิ่มขนาดทางเดิน เริ่มทำในซอยเล็กๆ เช่น ซอยสาทร 1 สามเสน 13 คนก็บ่นกันนะว่ารถเคลื่อนที่ได้ช้า แต่อีกฝั่งก็ชมเพราะว่าเดินง่ายขึ้น เนื่องจากเราไปตีเส้นให้เขาเดินสะดวกขึ้น”

“ ‘เดินสบาย ปั่นปลอดภัย’ เป็นการทดลองช่วงระยะสั้น (ประมาณ 3 เดือน) แต่เป็นโครงการที่มีสเกลใหญ่ขึ้น น่าจะทำให้ได้ยินเสียงของคนมากขึ้น และเสียงที่ต้องฟังให้ชัดที่สุดคือเสียงของคนในชุมชน ว่าเขาเห็นด้วยหรือเห็นต่างยังไง ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะสร้างการถกเถียงและการเรียนรู้ แล้วคงไม่หยุดแค่ตรงนี้ อาจจะมีการทดลองที่มากกว่าเดิม หรือว่านานขึ้นกว่าเดิ
หากโครงการนี้ได้ผลตอบรับที่ดี กทม. จะปรับให้เป็นแบบถาวรและขยายไปย่านอื่นด้วย รวมถึงการทำ Street Diet ให้มากขึ้น การทำ Sky Walk การทำให้เป็นเมืองเดินได้เดินดีตามนโยบายของท่านผู้ว่ากรุงเทพฯ และมีอีกหลายโครงการมากที่จะขยายผลจากงานนี้ ผมว่าถ้างานนี้สำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะใช้ข้อมูลเพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป”

Print Friendly, PDF & Email