Home ข้อมูลความรู้ บทความ “pop-up” เส้นทางจักรยาน ทำให้คนปั่นจักรยานเพิ่มมากขึ้นถึง 48% ในยุโรป

การลงทุนสาธารณะด้านการขนส่งที่ยั่งยืนหรือการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมได้จริงหรือ?

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงด้านกายภาพที่มากขึ้นสามารถนำไปสู่การเพิ่มระดับการขี่จักรยานได้หรือไม่?

เป็นคำถามที่หลายๆคนอยากทราบคำตอบ….. วันนี้เรามี ผลการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มช่องทาง เส้นทางจักรยานใหม่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้คนหันมาใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในเมืองของยุโรปเพิ่มขึ้น 11% ถึง 48%

โดยจุดมุ่งหมายของการศึกษาในครั้งนี้จัดทำโดย Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change (MCC) คือ ความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและการจราจร ซึ่ง Sebastian Kraus นักวิเคราะห์นโยบายของ MCC และเป็นหัวหน้าโครงการกล่าวว่า “เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้คนเปลี่ยนมาใช้จักรยานมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นผลที่เห็นอย่างชัดเจนเมื่อมีการเพิ่มช่องทางหรือเส้นทางจักรยานใหม่

การศึกษารวบรวมข้อมูลจากสถานีตรวจนับจำนวนจักรยานอย่างเป็นทางการ 736 แห่งใน 106 เมืองในยุโรป รวมถึงข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานจากตัวติดตามมาตรการ การใช้จักรยาน COVID-19 ของ European Cyclists’ Federation: ECF เพื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองที่ปรับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานแบบ “pop-up” ชั่วคราวในช่วงเริ่มต้นของการระบาดกับประเทศที่ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างพื้นฐาน

จากการวิเคราะห์ของทีมวิจัย จึงคำนวณปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความสับสน เช่น ความแตกต่างในตำแหน่งที่ตั้งของสถานีตรวจนับจำนวนจักรยาน สิ่งอำนวยความสะดวกของรถประจำทางและรถไฟ ความหนาแน่นของประชากร อุปนิสัยด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green lifestyles) ภูมิประเทศและสภาพอากาศ

ซึ่งจากการศึกษา สามารถสรุปได้ว่าช่องทางจักรยานแบบ pop-up เพิ่มปริมาณการใช้จักรยานอยู่ระหว่าง 11% ถึง 48% ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2020 และไม่เพียงเท่านั้น มาตรการดังกล่าวช่วยเพิ่มปริมาณการใช้จักรยานระหว่างการเดินทางได้ แต่ยังประหยัดงบประมาณได้อีกด้วย เช่น ช่องทางจักรยานแบบ pop-up ในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้การศึกษาเรื่องนี้ยังได้ตีพิมพ์ในรายงานการประชุมของ National Academy of Sciences ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานของการใช้จักรยานไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพของประชาชนประชาชนที่ดีขึ้น และส่งผลด้านเศรษฐกิจดีขึ้นอีกด้วย เพราะการใช้จักรยานสามารถทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพได้อีกด้วย (ผลที่ได้จากการประมาณการณ์ที่ความเชื่อมั่น 95% พบว่า การปรับโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบใหม่นั้น อาจผลประโยชน์ด้านสุขภาพอยู่ที่ระหว่าง 2.2 ถึง 6.9 ดอลลาร์พันล้าน/ปี) หากโครงสร้างพื้นฐานในการใช้จักรยานดังกล่าวได้เปลี่ยนจากที่เป็นแบบชั่วคราวกลายเป็นแบบถาวรและทำให้คนออกมาใช้จักรยานเป็นประจำหรือปรับพฤติกรรมการใช้จักรยานได้จนเป็นนิสัย เป็นวิถีชีวิตประจำวัน โดยหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ทุกระดับ ควรเพิ่มการลงทุนและเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนออกมาใช้จักรยาน โดย ECF เรียกร้องให้รัฐบาลการลงทุนด้านการสนับสนุนการจักรยานให้เป็นส่วนสำคัญของแผนการฟื้นฟูและความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมกับนโยบายหรือแผนพัฒนาของแต่ละประเทศ

แล้วถ้าบ้านเรามีเส้นทางจักรยานขึ้นมาจริงๆ เราอยากให้เป็นแบบไหน แล้วพวกเราจะออกมาใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันกันรึป่าว สุดท้ายเราขอย้ำกันสั้นอีกสักครั้งนะคะว่า ถ้าคุณปั่นจักรยาน สิ่งที่คุณจะได้คือ “สุขภาพดี ฟรี สะอาด(เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)”

References
(1) Holger Haubold. (2021). COVID-19 Cycling Infrastructure: Up to 48% #MoreCycling in European Cities. ที่มา: https://www.velo-city2021.com/en/blog/covid-19-cycling-infrastructure-up-to-48-more-cycling-in-european-cities#
(2) Sebastian Krausa and Nicolas Kocha. (2021). Provisional COVID-19 infrastructure induces large, rapid increases in cycling. ที่มา: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33782111/

Print Friendly, PDF & Email