Home ข้อมูลความรู้ บทความ สิงคโปร์ก้าวอย่างไม่หยุดยั้งสู่การเป็นชาติที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน (ตอนที่ 3)


ตัวอย่างการจัดการสอนให้เด็กขี่จักรยานอย่างปลอดภัยที่มีให้ในสิงคโปร์

ในตอนที่ 2 ผู้เขียนได้ยกกฎและแนวทางการนำจักรยานพับและ PMDs ขึ้นขนส่งสาธารณะในสิงคโปร์มาให้ดู ทั้งที่ก็คล้ายคลึงกับที่ใช้ในเมืองและประเทศอื่น เพราะเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎและแนวทางไว้ให้ชัดเจนและรอบด้านครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เข้าใจง่าย ใช้ง่าย และป้องกันความขัดแย้ง แม้แต่ในเมืองที่รัฐมีชื่อเสียงว่าเข้มงวดกับประชาชนอย่างมากก็ตาม

แต่อย่างที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย / สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้กล่าวเน้นมาตลอดในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาที่มีความตื่นตัวเรื่องการใช้จักรยานสูงขึ้นในไทย และเมื่อพูดถึงการส่งเสริมการใช้จักรยาน หน่วยงานรัฐและคนทั่วไปจะนึกถึง “ทางจักรยาน” เป็นสิ่งแรก คิดว่า หากมีการทำโครงสร้างพื้นฐานนี้มารองรับแล้ว การส่งเสริมการใช้จักรยานจะไปโลด ชมรมฯ /สถาบันฯ เราชี้ว่า การส่งเสริมการใช้จักรยานให้สำเร็จจะต้องทำงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านและต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ประยุกต์ อย่างวิศวกรรมศาสตร์กับสถาปัตยกรรมศาสตร์ สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ อย่างรัฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และจิตวิทยา สำหรับความคิดและพฤติกรรมของคน ที่ทำยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม ซึ่งรวมถึงการเป็นคนที่ใช้ถนนใช้พื้นที่สาธารณะอย่างรับผิดชอบ

ดังนั้นถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์จะมีวิสัยทัศน์ในการสร้างเมืองของเขาให้น่าอยู่ ส่วนหนึ่งด้วยการทำให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง หันมาใช้ขนส่งสาธารณะกับการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้น มีการวางแผนและลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน มีเป้าหมายชัดเจนก็ตาม หากชาวสิงคโปร์ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมมาใช้ถนนอย่างรับผิดชอบ เอื้อเฟื้อเอาใจใส่ผู้ใช้ถนนคนอื่น และเคารพกฎในการใช้ถนนใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันอย่างเคร่งครัด สิ่งที่คาดหวังไว้คือ การเป็นเมืองที่มีการใช้รถยนต์(ส่วนตัว)น้อย ก็อาจจะไม่ประสบผล

ประเด็นนี้ ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องที่สิงคโปร์ก็มองเห็น อย่าง สส. ซิโตะยิปิน ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการการขนส่งของรัฐสภา บอกว่า “โครงสร้างพื้นฐานที่จัดมาให้ทำได้แค่อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้ใช้ถนนกลุ่มต่างๆ เท่านั้น สำคัญยิ่งที่ผู้ใช้ถนนทุกคนจะต้องใช้ความระมัดระวังและให้ความปลอดภัยสำหรับตัวพวกเขาเองและสำหรับผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ มาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด” ส่วนนายสตีเวน ลิมฮาส ประธานของกองกำลังพิเศษการขี่จักรยานอย่างปลอดภัย (Safe Cycling Task Force) เปิดเผยว่าเขาได้รับคำร้องเรียนมากมายเกี่ยวกับผู้ใช้จักรยาน เช่น ผู้ใช้จักรยานขี่เป็นแพอัดแน่นเต็มทางจักรยานไปหมดทำให้นักจักรยานที่ขี่เร็วผ่านไปไม่ได้ ซึ่งเขาชี้ว่า นี่เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกว่า ถึงแม้จะมีทางที่แยกออกมาให้ใช้เฉพาะจักรยานตามที่เรียกร้องกันแล้วก็ยังมีปัญหา หากผู้ใช้จักรยานขาดความรับผิดชอบและไม่ประพฤติตัวให้ดี ในทางตรงข้าม ถ้าผู้ใช้รถผู้ใช้จักรยานเอาใจใส่ระมัดระวังผู้ใช้ถนนคนอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เลย


จักรยานสาธารณะ/จักรยานแบ่งปันในสิงคโปร์

สิ่งที่ทำให้คนสิงคโปร์กังวลใจคือ ในขณะที่ผู้ใช้จักรยานเรียกร้องนั่นเรียกร้องนี่ในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และรัฐบาลเริ่มตอบสนองจัดให้ ผู้ใช้จักรยานเองกลับยังสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง นายสตีเวน ลิมฮาส ประธานของกองกำลังพิเศษการขี่จักรยานอย่างปลอดภัย (Safe Cycling Task Force) เปิดเผยว่าเขาได้รับคำร้องเรียนมากมายถึงการขาดความรับผิดชอบและประพฤติตัวไม่ดีของผู้ใช้จักรยาน ที่มักตกเป็นข่าวคือการขี่ชนคนเดินเท้า ล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมก็มีกรณีที่มีผู้ใช้จักรยานขี่ชนหญิงสูงอายุที่อุ้มทารกวัย 13 เดือนล้มลงจนเด็กขาหัก และล่าสุดคือการที่สาธารณชนโวยวายว่าผู้ที่เอาจักรยานสาธารณะ/จักรยานแบ่งปัน (shared bike) ไปใช้ไม่นำไปส่งคืนจอดในสถานีหรือบริเวณที่จัดไว้ แต่ทิ้งไว้เกะกะเป็นจำนวนมาก เป็นต้น สื่อมวลชนสิงคโปร์ถึงกับตั้งคำถามว่า “จริงๆแล้ว สิงคโปร์พร้อมที่จะเป็นชาติที่เอื้อต่อการใช้จักรยานหรือยัง?” (น่าสังเกตว่าเขาใช้คำว่า “ชาติที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน” (pro-cycling nation) ไม่ใช่ “เมืองจักรยาน” (cycling city) หรือ “ประเทศจักรยาน” (cycling country) ด้วยซ้ำไป)

สำหรับทางออกที่มีผู้เสนอก็ไปในทำนองเดียวกันคือ ต้องมีการให้การศึกษาเรื่องการใช้จักรยานแก่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์ นายโกปินาธ เมนอน ที่ปรึกษาด้านการขนส่งและนักวิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง ชี้เลยว่าต้องทำไปพร้อมๆ กับการจัดโครงสร้างพื้นฐาน การเท่าแต่เอาจรรยาบรรณของผู้ใช้จักรยานไปลงไว้บนเว็บไซต์อย่างที่ LTA ทำนั้นเห็นชัดว่าไม่เพียงพอ เพราะเหตุการณ์ที่แสดงถึงพฤติกรรมไม่ดีของผู้ใช้จักรยานก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนายเคนเนธ วี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจักรยานสิงคโปร์ (Singapore Bike School) โรงเรียนแห่งเดียวที่สอนเรื่องการใช้จักรยานในสิงคโปร์ ได้แนะนำให้สอนเรื่องความปลอดภัยบนถนนและการใช้จักรยานในโรงเรียน โดยอาจเป็นส่วนหนึ่งของวิชากีฬา และไปจัดสอนการใช้จักรยานให้คนงานต่างชาติตามที่พักของพวกเขาด้วย เพราะคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ใช้จักรยานไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน
ผู้เขียนค่อนข้างเชื่อว่า ในไม่ช้ารัฐบาลสิงคโปร์ก็จะพิจารณานำข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ในเรื่องการให้การศึกษาคนในสิงคโปร์เรื่องการใช้จักรยาน-การใช้ถนนอย่างปลอดภัยมาเป็นมาตรการอีกอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการใช้จักรยานของรัฐบาล เพิ่มเติมจากการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้สิงคโปร์ก้าวเข้าใกล้การเป็นชาติที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานยิ่งขึ้น

กวิน ชุติมา กรรมการ สถาบันการเดินและการใช้จักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email