Home ข้อมูลความรู้ บทความ สู่ New Normal เดินและจักรยานเพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน

ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการเดินทางที่ยั่งยืน โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินและการใช้จักรยาน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางสู่วิถี New Normal ที่สามารถรักษาระยะห่างกันได้มากขึ้นในสถานการณ์ต่อสู้วิกฤตโรคระบาด

เรื่องนี้คุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ผู้เฝ้ามองสถานการณ์การเดินทางของผู้คนอย่างใกล้ชิดกล่าวว่า ในจังหวะเวลานี้การเดินและการจักรยานสามารถเป็นทางเลือกในการเดินทางของคนไทยได้มากขึ้นด้วยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ

วิถีเดินทางของคนเมืองกำลังเปลี่ยนไป
“มีตัวอย่างให้ดูหลายแห่ง ที่ชัดเจนในอังกฤษการเดินทางลดลงถึงร้อยละ 60 ในช่วงล็อกดาวน์ ในประเทศไทยมีการศึกษาที่นักวิจัยไปดูข้อมูลการเดินทางของคนใน Google Mobility พบว่าการเดินทางไปทำงานลดลงร้อยละ 23 ไปช้อปปิ้งลดลงร้อยละ 48 การใช้รถไฟฟ้าลดลงร้อยละ 50 มีงานศึกษาวิจัยของอาจารย์ที่ ม.อุบล เขาสำรวจออนไลน์ต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน พบว่าการเดินทางของคนทั่วไปในกรุงเทพฯ ลดลงร้อยละ 48

เราทำนายกันว่าหลังพ้นช่วงกักตัวการเดินทางก็อาจจะเพิ่มขึ้นจากตอนนี้ แต่ก็จะลดลงกว่าในช่วงก่อนโควิด เพราะทุกคนจะระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้น ในอนาคตการเดินทางลดลงแน่ๆ การเดินทางที่ไม่จำเป็นอาจจะลดลง เรื่องไปช้อปปิ้งอาจน้อยลงเพราะสั่งของออนไลน์ได้ ออกไปกินอาหารน้อยลงเพราะสั่งจากแอปต่างๆ ได้ แต่การเดินทางไปทำงานอาจจะลดลงไม่มาก มีคน Work From Home บ้างแค่บางส่วน และลักษณะรูปแบบการเดินทางจะเปลี่ยนไป”

Mode Shift สู่การเดินและจักรยาน
“งานศึกษาหลายที่ประเมินพฤติกรรมในการเดินทางของคน เขาพูดถึงเรื่อง Mode Shift คือการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง มีโอกาสมากที่คนจะเปลี่ยนการเดินทางจากการใช้ Public Transport เราพูดถึงในเขตเมืองที่ส่วนใหญ่ใช้รถไฟฟ้าหรือรถเมล์ คือรถขนส่งมวลชนทุกอย่างแน่น การจะทำระยะห่าง Social Distancing ค่อนข้างลำบาก ก่อนขึ้นก็มีการมาตรการต่างๆ หลายอย่าง มีความเป็นไปได้ที่คนอาจจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือมอเตอร์ไซค์มากขึ้น แต่ในทำนองเดียวกันก็อาจมีคนที่เปลี่ยนจากใช้ขนส่งสาธารณะมาเดินหรือจักรยานมากขึ้น

ซึ่งการที่คนจะเปลี่ยนมาเดินหรือจักรยานได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย คนจะเลือกเดินทางอย่างยั่งยืนได้ เกิด Mode Shift เปลี่ยนการเดินทางระยะสั้นมาเป็นจักรยานหรือการเดินเขาต้องทำได้อย่างสะดวกสบาย เราจะเห็นเลยในอังกฤษเขามาลงทุนเรื่องทางเดิน ฝรั่งเศส อิตาลี หลายประเทศในยุโรปเขาพยายามเปลี่ยนถนนหนทางในเขตเมืองแล้วเพื่อให้คนเดินและขี่จักรยานได้มากขึ้น”

การเดินทางเชื่อมต่อของคนเมือง
“ในเมืองไทยเรายังไม่มีการศึกษาว่าคนในเมืองชั้นในเขาเดินทางระยะทางเท่าไหร่ แต่ในลอนดอนเขาศึกษาว่าคนในเมืองเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร ดังนั้นเขาสามารถใช้จักรยานได้สบาย เราต้องศึกษาเพิ่มอีกนิดว่าการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ระยะทางเท่าไหร่ ของเราอาจจะยาวกว่า 5 กิโล เพราะคนอยู่ชานเมือง แต่สังคมสมัยใหม่ก็เริ่มเปลี่ยนไปคนมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้การเดินหรือใช้จักรยานไปต่อรถไฟฟ้ามีความเป็นไปได้ข้อเสนอของเราก็ต้องดูความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อการเดินทางด้วย คนไปอยู่ในเมืองมากขึ้นรัฐต้องสนับสนุน เช่น ต้องทำทางเท้าให้กว้างๆ ขึ้นได้หรือไม่ ทำที่จอดจักรยานดีๆ จอดแล้วไม่หาย มีส่วนลดสำหรับคนที่เดินหรือใช้จักรยานไปต่อรถไฟฟ้าได้หรือไม่ เรามีสิ่งอะไรที่จะสนับสนุนจูงใจได้บ้าง”

รวบรวมข้อมูลเสนอแนวทางใหม่
“บทบาทของมูลนิธิฯ ในช่วงนี้เราพยายามประมวลความรู้โดยร่วมกับหน่วยงานองค์กรเอกชนที่ทำงานวิจัยในเรื่องการขนส่ง ลองสำรวจดูว่าเราจะสามารถแนะนำเรื่องใดไปยังภาครัฐหรือเอกชนที่ดำเนินงานเรื่องการเดินทางได้บ้าง ไหนๆ จะเปลี่ยนวิถีแล้วเราก็ลองเสนอแนวทางใหม่จากการศึกษาวิจัย รวบรวมประสบการณ์ของต่างประเทศแล้วเสนอต่อภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เปลี่ยนวิธีคิด เนื่องจากจำเป็นต้องมีหน่วยงานสนับสนุนอย่างมากทั้งรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น เราเคยพบว่าคนเลิกเดินหรือเลิกขี่จักรยานเพราะเขากลัวอุบัติเหตุ อากาศเมืองไทยก็ร้อน ซึ่งพวกนี้เราแก้ไขได้ เราลดความเร็วรถยนต์ลงได้หรือไม่ เราปลูกต้นไม้ทำให้ทางเดินร่มรื่นได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องทำ ซึ่งการทำงานต้องทำไปพร้อมกัน ทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อม แก้ไขกฎเกณฑ์ มีมาตรการของรัฐ และการรณรงค์ต่างๆ ของภาคเอกชนให้คนรับรู้”

เริ่มเปลี่ยนสู่ New Normal
“การทำให้คนหันมาเดินหรือใช้จักรยานต้องดำเนินการทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับนโยบาย มาตรการภาครัฐ เอกชน สังคม ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปล่อยให้ภาคใดภาคหนึ่งทำ รัฐบาลก็ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีมาตรการส่งเสริม ส่วนคนทั่วไปงานศึกษาบางชิ้นบอกว่า ท้ายที่สุดหลังจากนี้คนไทยก็จะลืมแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม แต่เราเชื่อว่ามีคนที่กำลังพยายามเปลี่ยนวิถีจริงๆ เราอยากสนับสนุนให้ลองเปลี่ยน การเดินทางที่ทำด้วยตัวเองได้เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราเปลี่ยนมาเดิน ใช้จักรยามากขึ้นเราได้สุขภาพ ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย อาจเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น วันเสาร์อาทิตย์ลองออกไปเดิน ลองขี่จักรยานรอบๆ แถวบ้าน เพื่อให้เกิดความกล้าที่จะออกไป ลองออกไปขี่ช่วงที่ปริมาณจราจรไม่มากก็จะเห็นว่าจักรยานก็ไปได้ในเขตเมือง เราเริ่มทำให้เป็น New Normal ที่จะเป็นวิถีชีวิตในอนาคตของเราได้”

Print Friendly, PDF & Email