Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News สถาบันเดิน-จักรยานไทย จัดรับฟังความเห็นปรับปรุงซอยอารีให้เหมาะกับการเดิน

พื้นที่ด้านในรอบข้างซอยอารีที่เชื่อมต่อระหว่างถนนพหลโยธินทางตะวันออกไปถึงคลองประปาและถนนพระราม 6 ทางตะวันตก ในเขตพญาไทของกรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานของกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นย่านที่อยู่อาศัยใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ปากซอยทางด้านถนนพหลโยธินเป็นที่ตั้งสถานีอารีของรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีน้ำเงิน ทุกวันทำงาน โดยเฉพาะในช่วงเข้างานตอนเช้าและช่วงเลิกงานตอนเย็น จะมีคนไม่ต่ำกว่าแปดพันใช้ซอยอารีเป็นเส้นทางเข้า-ออก ทำให้การจราจรด้วยรถยนต์ติดขัด เป็นปัญหาของพื้นที่นี้มาเป็นเนิ่นนาน และจักรยานยนต์รับจ้างที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอขนส่งคนเข้าออกได้ทัน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการเหล่านั้นอยู่ห่างจากระบบขนส่งสาธารณะบนถนนพหลโยธินเป็นระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่สามารถเดินทางได้ด้วยการเดินหรือการขี่จักรยานอย่างสบายๆ หากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม การปรับปรุงพื้นที่ให้การเดินและการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจในการใช้เส้นทางนี้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะบนถนนพหลโยธิน ลดจำนวนผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวลง น่าจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ เคยมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสนอและศึกษามาแล้วก่อนหน้านี้ และในปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการในพื้นที่ได้แสดงความสนใจที่จะนำข้อเสนอแนะที่เหมาะสมมาพิจารณานำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงเกิดเป็น “โครงการออกแบบปรับปรุงกายภาพเพื่อส่งเสริมการเดินในเมือง: กรณีศึกษาซอยอารี-เขตพญาไท” ขึ้น เริ่มดำเนินงานในเดือนมีนาคม 2560
หลังจากการศึกษาในเบื้องต้น โดยเฉพาะการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ได้ข้อสรุปและมีแนวทางในการออกแบบขั้นต้นแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา สถาบันการเดินและการจักรยานไทยจึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้ห้องประชุมกรรณิการ์ – ราชาวดี ของกรมฯ ในพื้นที่ศึกษา เป็นสถานที่จัดประชุม
สำหรับการรับฟังความเห็นรอบแรกนี้มีผู้เข้าร่วม 22 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ศึกษา ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงการคลัง, ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะ(จักรยานยนต์รับจ้าง)ในซอยอารี และนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ในคณะผู้ศึกษา

นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผอ.สถาบันฯ เกริ่นนำการประชุม

การประชุมเริ่มต้นด้วยการชี้แจงวัตถุประสงค์และเป้าหมายการประชุมโดย นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ชี้ให้เห็นเหตุผลที่สนับสนุนการจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยอ้างถึงคำกล่าวส่วนหนึ่งของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมต.คมนาคม ในการเปิดการประชุมวิชาการประจำปีการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ว่า “…การขยายถนนไม่ใช่เพื่อมุ่งรองรับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงการปันส่วนพื้นส่วนพื้นที่ถนนให้กับการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์มากขึ้น  การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด ต้องเข้ามามีส่วนร่วม…” และหยิบยกเนื้อหาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2559-2564) ที่กล่าวถึงการพัฒนาเมือง พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรและให้ประชาชนเข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะซึ่งมีต้นทุนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  โดยให้ความสำคัญต่อระบบรถประจำทาง ระบบทางจักรยาน ทางเท้ามาให้ที่ประชุมทราบ   นอกจากนั้นยังได้อ้างถึงผลการศึกษาของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปที่ชี้ให้เห็นว่า หากหันมาใช้วิธีเดินหรือขี่จักรยาน และ/หรือขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากมาย และท้ายสุดได้ยกตัวอย่างทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีการจัดทางเดินเท้าให้น่าเดิน ผอ.สถาบันฯ เน้นว่า การจะเปลี่ยนวิธีคิดคนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมมาเดิน ใช้จักรยาน และขนส่งสาธารณะ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องพูดคุยกันให้มากๆ ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร

ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น

จากนั้น ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา กรรมการสถาบันฯ และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าคณะผู้ศึกษาได้นำเสนอผลการสำรวจพื้นที่และการออกแบบในเบื้องต้น ดร.ประพัทธ์พงษ์หรือ อ.โจ้ เปิดเผยว่า เมื่อ 18 ปีก่อนตนเองได้ทำวิทยานิพนธ์ศึกษาการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้พื้นที่ซอยอารีแห่งนี้เองเป็นกรณีศึกษา  และเมื่อสองปีก่อนได้มาหารือนายวิจารณ์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เห็นตรงกันว่าควรปรับปรุงกายภาพของพื้นที่นี้เพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน โดยมีความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นประเด็นสำคัญ เมื่อมาทำโครงการออกแบบฯนี้ (ซึ่งทำไปพร้อมกับโครงการในลักษณะคล้ายๆกันในพื้นที่ราชประสงค์ เขตพญาไท) การสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลจึงมุ่งไปที่ความปลอดภัย แนวคิดหลักคือการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางในซอยอารี ให้คนที่อยากเดิน-เดินได้ ถ้าเลือกใช้จักรยานยนต์รับจ้างก็ใช้ได้ และไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะให้เลิกใช้รถยนต์ไปอย่างสิ้นเชิง การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็นตาราง และคณะผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกายภาพของบริเวณทางเดินเท้าตั้งแต่บนถนนพหลโยธินทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ของซอย และเข้าซอยมาถึงบริเวณพื้นที่หน่วยงานราชการ มีการประเมินความเหมาะสมในการเดินเท้าในแง่มุมความกว้าง สภาพพื้นผิว ความสะอาด ความปลอดภัย ความต่อเนื่องของเส้นทาง ป้ายบอกทาง-ชื่อถนน และจุดทางข้าม ทำให้เห็นจากคะแนนรวมว่าทางเดินเท้าตรงนั้นมีความเหมาะสมเพียงใด เมื่อได้ข้อมูลตลอดเส้นทางแล้วนำมาประมวลในที่สุดก็ได้เป็นข้อเสนอเบื้องต้นให้ปรับปรุงทางเดินเท้าด้วยการทำทางเดินเหนือระดับพื้นดิน (skywalk) ให้กว้างและมีหลังคาคลุม และทำทางเท้าระดับพื้นดินให้คนพิการใช้ได้จริงๆ

หลังการนำเสนอ คณะผู้ศึกษาได้ขอความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งคำตอบจากทุกฝ่ายโดยสรุปเห็นด้วยตรงกันสนับสนุนแนวคิดที่จะให้มีการสร้างทางเดินเหนือระดับพื้นดิน โดยผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างเห็นว่าจะช่วยขนส่งคนที่กลุ่มพวกเขาให้บริการไม่ทันอยู่แล้วในช่วงเวลาเข้า-ออกงาน เช้า-เย็น และเสนอเพิ่มเติมว่า มาตรการอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยได้คือหน่วยงานราชการมีเวลาเข้า-ออกงานให้ข้าราชการเลือกได้ เพื่อกระจายเวลาการใช้พื้นที่ออกไป ส่วนผู้แทนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เสนอให้ทำทางเดินเท้าเชื่อมระหว่างอาคารกรมฯ กับอาคารกระทรวงฯ ด้วย และเพิ่มเติมให้จัดการเดินรถในซอยอารีเป็นทางเดียวเข้าจากถนนพหลโยธินไปออกซอยอื่นหรือทางถนนพระราม 6 ที่มีคนใช้น้อย
ท้ายสุด คณะผู้ศึกษาเสริมว่าได้คิดข้อเสนอให้เดินรถทางเดียวไว้แล้วเช่นกัน เมื่อคนขึ้นไปเดินบนทางเดินเหนือระดับพื้นดิน ห้ามจอดรถบนถนน และจัดการจราจรให้เดินรถทางเดียวตลอดซอย ก็จะมีพื้นที่ให้ใช้จักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์ บนถนนร่วมกันได้ ไม่ต้องแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ เมื่อกระจายวิธีเดินทางออกไปเป็นหลายแบบ การจราจรจะคล่องขึ้น ทั้งให้ผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของคน และประหยัดพลังงานด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email