Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News สสส. ร่วมมหาดไทยจัดสัมมนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จักรยานในชีวิตประจำวัน

เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดการสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ที่ภูเขางามรีสอร์ท จังหวัดนครนายก มีผู้เข้าร่วมกว่าหนึ่งร้อยคน ประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 “ระบบและโครงสร้างในการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ไปปฏิบัติ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม(สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง) อุตสาหกรรม สาธารณสุข การคลัง วัฒนธรรม ศึกษาธิการ การท่องเที่ยวและกีฬา และมหาดไทย(กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวง), องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่งที่เข้าร่วม “โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” หรือ “โครงการ 3 ส.” (สวน เส้นทาง สนาม) ของ สสส. คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีและชัยนาท, องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลอย (พังงา), เทศบาลนครเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ อุบลราชธานี และยะลา, เทศบาลเมืองลำพูน พะเยา น่าน หัวหิน และชุมพร, และเทศบาลตำบลลำสินธุ์ พัทลุง ในส่วนจังหวัดนครนายก สถานที่จัดประชุม มีผู้บริหารเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งผู้ว่าและรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และนายอำเภอเมือง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมการใช้จักรยานสมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เกียรติมาเปิดการประชุม เปิดเผยว่าการสัมมนาครั้งนี้จัดได้เพราะปลัดกระทรวงเห็นด้วยในเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นวิถีชีวิต และได้กล่าวถึงความสำคัญของแรงบันดาลใจว่าเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องใดๆ จึงถูกต้องที่เลือกนครนายกเป็นที่จัดประชุมเพราะนายอำเภอเมืองเอาจริงนำขี่จักรยานทุกวันพุธ และทุกคนมาคุยกันเพื่อทำให้แรงบันดาลใจเป็นจริง เมื่อมีอาจารย์ธงชัย(ศ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์)มาให้ความรู้ จึงควรตักตวงความรู้ให้เต็มที่ เพราะอาจารย์เป็นคนแรกที่ทำอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องมาหลายสิบปี เรียนรู้แล้วต้องเอาไปขับเคลื่อนให้ต่อเนื่องด้วย รองปลัดสุทธิพงษ์ยังแนะนำด้วยว่า การพัฒนาจักรยานเป็นวิถีชีวิตพึ่งราชการลำบาก เพราะข้าราชการไปๆมาๆ อยู่แต่ละที่ไม่นาน จึงเชิญภาคประชาสังคม ผู้นำอปท. ชมรม กลุ่มต่างๆ มาร่วม แต่ก็ต้องทำงานกับราชการไปด้วยกัน เราทำอะไรแล้วล้มเหลว ต้องยอมรับ แต่อย่ายอมแพ้ ยุติหรือเลิกทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราทำดี-ถูกต้องและอยากให้เกิดขึ้น ทำต่อไปให้จักรยานเป็นวิถีชีวิตในสังคมไทย ทำให้เด็กทุกคนที่เกิดในไทยขี่จักรยานเป็น มีเส้นทางให้ขี่จักรยานไปโรงเรียนได้ปลอดภัย เด็กจะมีพัฒนาการดีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งยังดีต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัด หวังว่าการประชุมครั้งนี้ ทุกคนจะได้แรงบันดาลใจและแปรให้เป็นการปฏิบัติ ทำให้เกิดขึ้นจริง จะได้เลิกยกตัวอย่างญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ เสียที มายกตัวอย่างในเมืองไทยได้แทน
ในส่วนตัวแทนของ สสส. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ และ ผศ. ดร. เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ พูดถึงการที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเฉลี่ยถึงวันละ 13.54 ชั่วโมง ทั้งที่ควรจะไม่เกิน 10 ชั่วโมง ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการขี่จักรยาน สสส.ได้คิดยุทธศาสตร์ “3 ส.” ขึ้นมา คือมีสวนสาธารณะให้คนทั่วไปขี่จักรยานออกกำลังกาย มีเส้นทางสัญจรให้คนทั่วไปใช้จักรยานได้ในชีวิตประจำวัน และมีสนามท้าทายให้พวก “ขาแรง” ได้ฝึกฝนการขี่ จึงมีพื้นที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้จักรยานทุกกลุ่ม โครงการนี้ทำไปแล้ว 2 ระยะ 13 เมืองในระยะที่ 1 และ 11 เมืองในระยะที่ 2 มีการเอาผลการดำเนินงานมาวิเคราะห์และมีข้อเสนอให้ทำเป็น “เมืองจักรยาน” อย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้ผู้บริหารทุกพื้นที่สร้างชุดความรู้ว่าใช้จักรยานแล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง ทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การท่องเที่ยว และการศึกษา ใช้จักรยานเป็นเครื่องมือเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน จะมีการทำคู่มือการใช้จักรยาน ในเรื่องเส้นทาง สสส.ส่งเสริมแนวคิด “แบ่งปันเส้นทาง” (Share the road) ในกรณีเมืองเก่า-ถนนแคบ ส่วนในที่ที่ทำทางจักรยานได้ ก็มีหลายแบบได้แก่ ทางจักรยานรอบสวนสาธารณะ ทางจักรยานในเขตเมือง/ชุมชน ทางจักรยานนอกเขตเมือง/ชานเมือง และทางจักรยานระหว่างเมือง ในระยะที่ 3 อีก 15 จังหวัด จะทำให้ครบทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ส่วนในภาคอื่น อยากให้เกิดเป็นหย่อมๆ และมีเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด
สำหรับ ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการเดินและการใช้จักรยานไทย เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่จะเสนอต่างจากความคิดของ “นักจักรยาน” อยู่บ้าง คนที่ขี่จักรยานทุกวัน(เช่นขี่ออกกำลังกายยามเช้า)ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องขี่ได้ระยะทางมากๆ อย่างใน“ประเทศจักรยาน” คือเนเธอร์แลนด์ แต่ละคนขี่จักรยานเฉลี่ยวันละไม่ถึง 3 กิโลเมตร ในหลายประเทศในยุโรปเป็น “สังคมจักรยาน” ไปแล้ว ขณะที่ในไทยใช้คำว่า “เมืองจักรยาน” และ “ชุมชนจักรยาน” กันมากทั้งยังไม่ได้เป็น
อาจารย์ธงชัยได้ชี้ให้เห็นบทบาทของกระทรวงมหาดไทยและ สสส. ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดิน-การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และชี้ให้เห็นว่า จักรยานไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะที่มีสองล้อ การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมีผลในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่น เมื่อใช้แทนยานยนต์ต่างๆ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของภัยธรรมชาติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม จากนั้นก็ได้ใช้คำถามให้ผู้ร่วมประชุมตอบ เป็นการทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในทางปฏิบัติ ซึ่งบางกรณีก็มีประเด็นทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ขี่จักรยานต้องสวมหมวกนิรภัยไหม ต้องมีเส้นทางจักรยานก่อนไหม เอาไหล่ทางมาทำทางจักรยานดีไหม ขี่จักรยานย้อนศร(ย้อนทิศทางรถ)และขี่บนทางเท้าได้ไหม ฯลฯ
ประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้แนะนำให้ สสส. เปลี่ยน “3 ส” ใหม่มาเป็น เส้นทาง สิ่งแวดล้อม และสังคม และชี้ว่าสิ่งที่ผู้ใช้จักรยานต้องการคือ ขี่ได้ปลอดภัย ต่อเนื่อง(ทำให้สะดวก) และร่มรื่น(สบาย)
หลังการบรรยายของวิทยากร ทางผู้จัดได้แบ่งผู้เข้าร่วมเป็นห้ากลุ่ม หมุนเวียนกันนำเอาประเด็นยุทธศาสตร์ทั้งห้าของแผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ. 2558-2564) คือยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ ด้านการสร้างและจัดการความรู้ ด้านการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการสื่อสาสาธารณะ และด้านการสร้างเครือข่ายทางสังคม ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(ก่อนการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ) ได้ผลักดันและขับเคลื่อนให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็น รับรองเป็นมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 มาพิจารณาว่าจะนำมาใช้อย่างไร ควรปรับปรุงเช่นใดบ้างหรือไม่ และนำมาสรุปเป็นแนวทางที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการเมืองปั่นได้-เมืองปั่นดี จะนำไปปรับปรุงการดำเนินงานของตนในการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้เป็นวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นของตนให้ได้ประสิทธิผลยิ่งๆขึ้นต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email