Home ข้อมูลความรู้ บทความ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มโอกาสการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้น

แปลและเรียบเรียงโดย : นนทนีย์ วิบูลย์กุล

ที่มา : https://thecityfix.com/blog/collaboration-nature-based-solutions-key-resilient-city-infrastructure-lisa-beyer-james-anderson/

ท่ามกลางความแออัดของเมืองใหญ่ที่ไปที่ไหน ก็เจอแต่มลภาวะ ความวุ่นวายของผู้คนที่พลุกพล่าน ไอความร้อนจากการปล่อยควันพิษของรถยนต์บนท้องถนน ท่านผู้อ่านลองจินตนาการดู…….ว่าถ้าวันนี้ เมืองที่ท่านอยู่กลายเป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ทางเท้าที่เดินได้อย่างเย็นสบายเพราะมีต้นไม้ช่วยบังแดด ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในเมืองที่คุณอยู่…….ความสุขในชีวิตคุณจะมากขึ้นเท่าไหร่

“เมืองที่คุณอยู่ในตอนนี้ มีพื้นที่สีเขียวเยอะขนาดไหน?”

ก่อนที่เราจะไปรู้จักการพัฒนาเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเราจะต้องรู้ก่อนว่าแนวคิดเมืองสีเขียว (Green City) คืออะไร…….

คำนิยามของคำว่า “เมืองสีเขียว” คือ เมืองที่มีต้นไม้พืชพันธุ์หรือพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชากรเมือง ทั้งตามสภาพดั้งเดิมตามธรรมชาติ สภาพกึ่งธรรมชาติ และสภาพเลียนแบบธรรมชาติ ที่ทำขึ้นให้เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของเมืองเมืองนั้น ที่สำคัญคือจะต้องสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งต่อดิน น้ำและอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น แก้ไขปัญหาความยากจน และชุมชนแออัด ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีความเท่าเทียมในการอยู่อาศัย และมีโอกาสในการศึกษาหรือการทำงานในเมืองนั้น ๆ (อ้างอิงข้อมูลจากโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ)

ตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาเมืองไปสู่การเป็น Green City ที่เราเห็นภาพได้ชัดเจน และใกล้บ้านเราอีกด้วยก็คงหนีไม่พ้น “ประเทศสิงคโปร์” ประเทศที่ใครเคยไปเยือนคงสัมผัสได้ถึงความน่าอยู่ และความร่มรื่นจากต้นไม้จำนวนมาก และที่น่าทึ่งไปมากกว่านั้น คือ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ โดยสิงคโปร์ได้มีแผนริเริ่มที่มีชื่อว่า “Singapore’s Greenery Plan” เพื่อสร้าง A City in a Garden รวมไปถึงการที่สิงคโปร์มีเป้าหมายไปสู่การเป็น เมืองสีเขียวที่สุดในโลก (World’s Greenest City)

ที่มาภาพ: https://readthecloud.co/singapore-city-in-a-garden/

ตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) ในปี พ.ศ.2560 พบว่า พื้นที่สวนสาธารณะปัจจุบันของกรุงเทพฯ มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ 76.04 ตารางวา พื้นที่ 35,414,704.16 ตารางเมตร จำนวนประชากรของกรุงเทพฯ (จากสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง)

แต่อย่างไรก็ดี…..กรุงเทพมหานครก็มาตรการที่จะเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครให้มีมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะ* เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และกิจกรรมนันทนาการทั้งหมด 23,801 ไร่ เพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 6.70 ตารางเมตรต่อคน
รวมไปถึงกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวให้ได้ในอัตรา 10 ตารางเมตรต่อคน ภายใต้โครงการ Green Bangkok 2030 เป็นการวางแผนและพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าอีก 10 ปี โดยเริ่มนำร่อง (ระยะที่ 1) แล้ว จำนวน 11 โครงการ ใน 11 พื้นที่นำร่อง

ที่มาภาพ: https://www.komchadluek.net/news/regional/437876

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการบูรณาการเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน อาทิ การทำทางเท้าให้มีมาตรฐาน ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เป็นต้น ย่อมมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเลือกการเดินทางด้วยวิธีการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้น เพราะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและมีต้นไม้มากขึ้นช่วยในเรื่องการลดความร้อนจากผิวถนน ลดมลพิษทางอากาศ และสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่

ที่มาภาพ: https://www.clubrideapparel.com/blogs/blog/15102681-for-women-by-women-how-to-wear-a-skirt-on-a-bike

จากข้อมูลของ American Planning Association เรื่อง The Benefits of Street-Scale Features for Walking and Biking ได้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวและการมีต้นไม้บริเวณข้างทาง นอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้นแล้ว พื้นที่สีเขียวยังมีส่วนช่วยในเรื่องของสุขภาพจิต(Mental Health) จากงานวิจัยพบว่าวิวป่าที่ร่มรื่นมีสีเขียวมีผลกระทบในเชิงบวกมากกว่าวิวเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูง รวมไปถึงการเดินและการปั่นจักรยานนอกจากจะช่วยในเรื่องสุขภาพ เป็นกิจกรรมทางกายรูปแบบหนึ่ง ยังมีส่วนช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นการพัฒนาเมืองเพื่อให้มีพื้นสีเขียวมากขึ้นจึงมีส่วนช่วยในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการเพิ่มดัชนีชี้วัดความน่าอยู่(Livability Index) และช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเลือกการเดินและการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยทั้งในเรื่องสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ เป็นรูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามคำกล่าวที่ว่า “สุขภาพดี ฟรี สะอาด”

References

1. American Planning Association. The Benefits of Street-Scale Features for Walking and Biking. ที่มา: https://planning-org-uploaded-media.s3.amazonaws.com/legacy_resources/nationalcenters/health/streetscale/pdf/walkingbikingfinalreport.pdf
2. Amy Kolczak. (2017). This City Aims to be the World’s Greenest. Nationalgeographic. ที่มา: https://www.nationalgeographic.com/environment/urban-expeditions/green-buildings/green-urban-landscape-cities-Singapore/#:~:text=Singapore%20Aims%20to%20be%20the%20World’s%20Greenest%20City&text=Symbol%20of%20Singapore%20and%20its,power%20a%20nightly%20light%20show.
3. สำนักข่าวคมชัดลึก. (2020). เปิด11พื้นที่สีเขียว คนกทม. “ผู้ว่าฯอัศวิน” ลั่นอีก10ปีก้าวสู่มหานครสีเขียว. ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/regional/437876
4. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.(2018).ข้อมูลตัวชี้วัด “จำนวนและสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร”ที่มา: http://www.onep.go.th/env_data/01_03/70
5. MGR Online. (2018). ปีนี้คนกรุงเทพฯ จะได้พื้นที่สีเขียว 6.38 ตารางเมตรต่อคน. ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000046774
6. โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ.(2017). คุณสมบัติของ Green City หรือ เมืองสีเขียว. ที่มา: http://thailandsmartcities.blogspot.com/2016/10/green-city.html

 

 

Print Friendly, PDF & Email