Home ข้อมูลความรู้ บทความ จัดการโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพยังไงให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน?

เรียบเรียงจากหนังสือ “ประเทศไทยสร้างเมืองจักรยานได้ ฉบับแกนนำชุมชน” จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

เหตุผลสำคัญที่คนไม่ใช้จักรยานอาจเป็นเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สะดวก เรื่องพวกนี้แก้ไขได้ด้วยการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานให้ดีขึ้น เมื่อไหร่ที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สามารถรองรับให้คนในเมืองสามารถขี่จักรยานได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย เมื่อนั้นคนจำนวนหนึ่งจะเริ่มหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันโดยอัตโนมัติ

การพัฒนาสู่เมืองจักรยานจึงต้องเริ่มด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เอื้ออำนวยกับ “คนปั่น” สามารถใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการเดินทางในแต่ละวันได้จริง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่ จุดจอดจักรยาน สภาพแวดล้อม เส้นทางจักรยาน และป้ายสัญลักษณ์จักรยาน

#เส้นทางจักรยาน : พัฒนาเส้นทางจักรยานให้เชื่อมโยงสถานที่ต่างๆ ให้สามารถปั่นไปได้และไปถึงด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด เส้นทางจักรยานที่ดีควรคำนึงเรื่องที่คนใช้ไม่ต้องยกจักรยานข้ามทางด้วย เพื่อให้จักรยานเป็นเรื่องสะดวกและเข้าถึงทุกสถานที่ได้จริง

#จุดจอดจักรยาน : สร้างจุดจอดจักรยานให้สะดวกในการต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือด่วน อีกทั้งควรจัดการให้มีจุดจอดจักรยานที่มากพอให้สามารถนำจักรยานไปได้ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ห้างสรรพสินค้า และเรื่องที่สำคัญมากคือต้องเป็นจุดจอดที่คนปั่นมั่นใจว่าจักรยานจะไม่หาย

#สภาพแวดล้อมที่ดี : การจัดสภาพแวดล้อมในเส้นทางสัญจรให้สะอาด ถนนหนทางไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีสิ่งกีดขวาง จะช่วยให้คนปั่นจักรยานรู้สึกมั่นใจที่จะใช้จักรยานกันมากขึ้น และยิ่งหากมีการปลูกต้นไม้ในแนวให้ร่มรื่นช่วยลดความร้อนให้อีก รับรองว่าจะมีคนเดินและปั่นจักรยานเพื่อสัญจรมากขึ้นแน่นอนครับ

#ป้ายสัญลักษณ์จักรยาน : ควรติดตั้งป้ายสัญลักษณ์เพื่อเตือนพาหนะอื่นๆ ว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นป้ายจำกัดความเร็ว และป้ายที่สื่อสารว่าเป็นทางที่มีจักรยานร่วมใช้ถนนด้วย จะช่วยลดอุบัติเหตุของในเส้นทางจักรยานได้ ซึ่งระดับความเร็วที่เหมาะสมของถนนที่มีจักรยานร่วมใช้ด้วยนั้นคือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ .

มาร่วมสร้างเมืองจักรยานจากภาพฝันให้เป็นจริงกันเถอะครับ!

Print Friendly, PDF & Email