Home ข้อมูลความรู้ บทความ สถาบันฯ ร่วมเวทีสาธารณะ ทางเลียบเจ้าพระยา สร้างสรรค์หรือทำลาย

เมื่อบ่ายวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเวทีสาธารณะ “ทางเลียบเจ้าพระยาสร้างสรรค์หรือทำลาย” ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปนิก’62 ที่จัดขึ้นที่อาคารแชลเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดปทุมธานี เพื่อเปิดรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านจากผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีนี้ด้วยและส่งนายกวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก ไปร่วม โดยทั้งหมดมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน จาก 35 องค์กร และสื่อมวลชนมากหลาย รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ๊กด้วย

เวทีสาธารณะนี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ กทม.จึงจัดทำขึ้นมาเป็นโครงการ และได้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาทำการศึกษา โดยแนวทางหนึ่งที่ออกมาคือ การก่อสร้างทางในแม่น้ำเจ้าพระยาเลียบตามฝั่งแม่น้ำไป เป็นระยะทางรวม 57 กิโลเมตร ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้ และใช้เป็นเส้นทางสัญจรและที่ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการต่าง ๆ นำร่องช่วงแรกด้วยการก่อสร้างทั้งสองฝั่งจากบริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร โครงการนี้เริ่มในปี 2558 และถูกติติงคัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างมากมาตั้งแต่ต้น จากทั้งคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นักวิชาการ นักวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้างที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ฯลฯ ทำให้มีความล่าช้ามาโดยตลอด แต่มีข่าวว่า ขณะนี้ กทม.พยายามผลักดันให้เริ่มมีการประมูลการก่อสร้างโครงการนี้

ในเวทีครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมที่ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นทั้งหมด รวมทั้งผู้แทนจากพรรคการเมืองสองพรรค ยกเว้นจากทาง สจล. ที่มานำเสนอให้เห็นภาพโครงการ ล้วนเมิน-ไม่เห็นด้วยกับการสร้างทางเลียบแม่น้ำนี้ ต่างชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆ ของโครงการ ตั้งแต่การไม่มีความจำเป็นตั้งแต่แรกที่จะมีโครงการนี้ กระบวนการศึกษาที่ไม่เพียงพอ-ไม่รอบด้าน ไปจนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น ผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ ไปจนถึงการที่ทางที่สร้างขึ้นจะมีจักรยานยนต์เข้ามาใช้ สร้างปัญหาแก่การเดิน การขี่จักรยาน และการทำกิจกรรมอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ และยืนยันถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ วิถีชีวิตริมน้ำดั้งเดิมที่มีค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครไว้ พร้อมแนะหาทางเลือกอื่นเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งร่วมกันที่ไม่นำสู่ความขัดแย้งและใช้เงินไม่มาก ในขณะที่ กทม. ผู้เป็นเจ้าของโครงการ ไม่ปรากฏตัวในเวทีสาธารณะครั้งนี้แต่อย่างใด

เมื่อเวทีเสร็จสิ้น มูลนิธิสถาบันการเดินและจักรยานไทยได้รับการประกาศจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้เป็นหนึ่งใน 20 องค์กรที่ได้สิทธิแสดงความเห็นสุดท้ายในใบประเมินผลอย่างเป็นทางการต่อเวทีสาธารณะครั้งนี้ (หน่วยงานราชการไม่ได้รับสิทธินี้) ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างทางเลียบเจ้าพระยานี้ ซึ่งผู้แทนมูลนิธิฯ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยไป ยืนยันตามความเห็นที่มูลนิธิฯ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เคยแสดงไปก่อนหน้าหลายครั้งตั้งแต่แรกแล้วว่า ในแง่ของการเดินและการใช้จักรยาน แม้มูลนิธิฯ จะสนับสนุนการมีโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาที่ส่งเสริม-เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน แต่ต้องมีปัจจัยด้านอื่นที่เป็นคุณ-ไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแก่ผู้ใช้และสาธารณชนร่วมไปด้วย โครงสร้างพื้นฐานนี้จึงจะใช้ได้จริงตามความมุ่งหมาย ซึ่งยังไม่ปรากฏให้เห็น มูลนิธิฯจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการตามที่เสนอออกมา

รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email